หนังสือ"ธรรมะใต้เเสงจันทร์"
บทความธรรมะกับสาระดีๆ เพื่อชีวิตที่งดงาม
ธรรมะใต้แสงจันทร์
ทุกคนเคยมองดูดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ที่ท้องฟ้าโปร่งใส ไร้เมฆหมอก แล้วเกิดความคิด จินตนาการไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเพ่งดูดวงจันทร์ ที่กำลังส่องประกายแสง เหมือนกับดวงจันทร์ส่องมาหาเรา จะอยู่มุมใดของโลกก็ตาม จะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศไทยก็ตาม ก็มีพระจันทร์ดวงเดียวกัน ธรรมะก็เหมือนกับจันทร์เพ็ญ จะส่องแสงสว่างไสวไปทั่วหล้าได้ ก็ต้องอาศัยคนประพฤติธรรม นำธรรมะมาใช้ดำเนินชีวิต เอาธรรมะเป็นเข็มทิศนำทาง เพื่อความสงบสุขของมวลมนุษยชาติ
แต่ก่อนเคยคิดว่า “ทำไมพระพุทธเจ้า ทรงเทศน์สอนให้คนได้ดวงตาเห็นธรรม (มรรค ผล นิพพาน) เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้” ระยะหลังจึงเข้าใจว่า เพราะพระพุทธเจ้ารู้จักวาระจิตของผู้ฟัง จึงสอนธรรมะให้โดนใจผู้ฟังได้ เมื่อผู้ฟัง ตั้งใจฟัง จิตจดจ่อและต่อเนื่อง กำลังสมาธิก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ปัญญาก็จะเกิดตามมาเอง ทำให้รู้แจ้ง เห็นจริง พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ทุกคนได้ฟัง เสมือนพระองค์ทรงตรัสเจาะจงเราผู้เดียว ส่องใจเราคนเดียว เหมือนกับความรู้สึกว่า ดวงจันทร์ส่องมาที่เราคนเดียว อันที่จริง ดวงจันทร์ก็ส่องไปทั่วโลกนั่นแหละ
ดังนั้น คนจำนวนมาก เมื่อฟังธรรมแล้ว จึงได้บรรลุธรรมพร้อมกัน จิตใจสว่าง สงบ ปลอดโปร่ง ดังคำว่า “สว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงธรรม” เพราะพระธรรมเทศนาของพระองค์เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด และอีกอย่างหนึ่ง พระธรรมเทศนาของพระองค์เป็นพระธรรมเทศนาที่แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง พร้อมทั้งงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ จึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ คืนพระจันทร์เต็มดวง บรรยากาศเป็นใจ ท่ามกลางแสงจันทร์ส่องสว่างไสวทั่วพื้นป่า พร้อมทั้งดวงดาวสุกสกาวบนฟากฟ้า สดใส งดงาม และบรรยากาศก็เงียบสงัดในยามค่ำคืน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มอบความรักที่บริสุทธิ์แก่มวลมนุษย์ คือให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้ผ่องใส
ต่อมากลายเป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้ผ่องใส ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า มวลมนุษย์ควรนำหลักธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อความสุขของตนเองและผู้อื่น สังคมก็จะอยู่ดีมีสุข และอยู่เย็นเป็นสุข
ทำไมพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน การไม่ทำบาปก่อนล่ะ เพราะว่าถ้าเรายังไม่ละบาปคือความชั่วแล้ว การที่จะสร้างความดี ก็เป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นต้องละบาปก่อน บาปคือความชั่วเกิดขึ้นกี่ทางล่ะ? ความชั่วเกิดขึ้น 3 ทาง คือ
- ความชั่วทางกาย คือการฆ่า การเบียดเบียด การทำร้ายกัน, การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้หรือไม่ได้รับอนุญาต, การประพฤติผิดในกาม
- ความชั่วทางวาจา คือ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ (พูดไร้สาระ ไม่มีประโยชน์)
- ความชั่วทางใจ คือ คิดอยากได้ของคนอื่น คิดพยาบาทปองร้าย เห็นผิดจากหลักธรรม
โดยปกติ การที่ละความชั่วได้ ก็ถือว่าเป็นความดีอยู่แล้ว ทำไมต้องให้สร้างความดีต่อ เพราะว่าต้องการที่จะให้สร้างความดีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ ถ้าเราไม่สร้างดีต่อ มันจะทำให้เราประมาท และจะไม่ขวนขวายในการที่จะสร้างความดีที่สูงขึ้นไปนะซิ
ความดีตรงข้ามกับความชั่ว เหมือนขาวกับดำ สว่างกับมืด คือให้ประพฤติดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ ได้แก่ เว้นจากความชั่วนั่นเอง เมื่อสร้างความดีได้แล้ว ต่อจากนั้น ก็พัฒนาด้านจิตใจ คือการทำจิตใจให้ผ่องใส ปลอดโปร่ง สะอาด สว่าง สงบ
บุคคลใด มีใจสว่างดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ ที่ไม่มีเมฆหมอกมาบดบัง บุคคลนั้นก็จะมีความสุข ส่วนผู้ใดใจยังเศร้าหมอง ขุ่นมัว เหมือนกับเมฆหมอกที่บดบังดวงจันทร์ไว้ ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์
จะอยู่อย่างไรให้เป็นสุข ใต้แสงจันทร์เดียวกัน ซึ่งมีดวงดาวระยิบระยับ ส่องประกายแสง สังคมโลกปัจจุบัน มุ่งไปทางทำลาย ล้างผลาญ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งที่โลกจะเกิดสันติภาพ
นอกเสียจากการนำธรรมะมาค้ำจุนโลกไว้ คือให้เรามีเมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก ละการเข่นฆ่าราวีกัน สันติภาพจึงจะเกิดขึ้นได้
ใต้ฟ้าเดียวกัน ใต้ดวงจันทร์ดวงเดียวกัน ธรรมะควรจะขยายไปทั่วทุกมุมของโลก เพื่อความเสมอภาคของมวลมนุษยชาติ ที่จะได้พิสูจน์หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลจากการนำหลักธรรมมาปฏิบัติ มาใช้ในการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้โลกเกิดสันติสุข นำความสงบร่มเย็นมาสู่มวลมนุษย์โดยทั่วหน้า เหมือนดวงจันทร์ส่องแสงให้มวลมนุษย์ได้ชื่นชมความงดงาม และมวลมนุษย์ก็พลอยมีความสุขกันทั่วหน้า ในค่ำคืนที่ไร้เมฆหมอก ฉะนั้น
ดวงจันทรา ส่องแสง ไปทั่วหล้า
ใต้โลกา พิภพ ดูสดใส
เหมือนแสงธรรม ผุดผ่อง ส่องอำไพ
ให้หทัย ชาวโลก ได้ร่มเย็น
แสงพระธรรม สว่าง ทั้งคืนวัน
ส่วนแสงจันทร์ ดารา แค่ราตรี
เหล่าหญิงชาย ควรสร้าง บารมี
เพิ่มรังษี แห่งธรรม ในดวงใจ
หิ่งห้อยกับตะวัน
สมัยเป็นเด็กตามบ้านนอกคอกนา อยู่ตามป่าตามเขา มีจันทราและดวงดาวเป็นเพื่อนคลายเหงา มองไปเห็นหิ่งห้อยระยิบระยับ เปล่งแสงวาววามงามตา เย้ายวนชวนให้มอง ในยามราตรี มันยังตราตรึงในใจตลอดมา คืออยู่ในใจเสมอ มิเคยลืมเลือน
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงอดีตบ้าง อย่างไรก็ตาม อดีตที่ผ่านมานั้น ก็เป็นบทเรียนที่มีค่ามาก ซึ่งคอยย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ แม้เราจะมีความรู้น้อย ด้อยปัญญา รูปไม่หล่อ พ่อไม่รวย ไม่อาจจะทัดเทียมผู้อื่นได้ เสมือนแสงหิ่งห้อยที่ไม่อาจทัดเทียมแสงตะวัน
แต่เราต้องพยายามบากบั่นต่อสู้ และอดทน เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปในโลกใบนี้ และสร้างความภูมิใจ ยินดีในสิ่งที่มี พอใจในสิ่งที่ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง
อย่าดูหมิ่นตัวเองว่าไม่มีคุณค่า ถ้าเราคิดว่าเราไม่มีค่า แสดงว่าเราไม่เคารพตัวเอง แต่ก่อนเคยคิดว่า น้ำค้างบนใบหญ้า ในยามเช้าตรู่ ที่คนเดินเหยียบย้ำไปมา มันจะมีค่าอะไร โดยแท้จริงแล้ว มันมีค่ามหาศาล จากน้ำค้าง เมื่อโดนแสงแดดเข้า มันจะระเหยเป็นไอน้ำ แล้วไอน้ำรวมกัน ก็กลายไปเป็นก้อนเมฆ ต่อมาก้อนเมฆหนา ก็จะทำให้ฝนตก นำความชุ่มเย็นมาสู่มวลแมกไม้นานาพันธุ์ หมู่สัตว์ และมวลมนุษย์ เห็นไหมล่ะ มันมีค่าแค่ไหน
มองโลกในแง่บวกบ้าง ชีวิตจะได้มีกำลังใจ และพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป ตามจุดหมายปลายทางของตนเอง อย่าคิดว่า เราล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จผู้เดียว ให้มองว่าคนอื่นที่แย่กว่าเรายังมีเยอะ อาทิเช่น เรามีเสื้อผ้าใส่ มีรองเท้าใส่ แม้ไม่มีบ้าน ไม่มีรถก็ตาม แต่ให้มองคนที่ไม่มีแม้เสื้อผ้าและรองเท้าจะใส่ หรือแม้แต่ข้าวไม่มีจะกิน ยังด้อยกว่าเราอีกหลายเท่า จะทำไห้มีกำลังใจในการต่อสู้ ถ้ามองโลกไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้
ตรงกันข้าม ถ้ามองโลกในแง่ลบหรือมองโลกในแง่ร้าย มันจะทำให้ใจเศร้าหมอง หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า “หมดอะไรก็หมดได้ แต่อย่าหมดหวัง...สิ้นอะไรก็สิ้นได้ แต่อย่าสิ้นกำลังใจ” เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงควรมองโลกในแง่บวก แม้จะล้มเหลว แต่ไม่ควรล้มเลิก ในสิ่งที่เราจะทำ สักวันหนึ่ง มันจะเป็นวันของเรา และเราจะสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
อย่างไรก็ตาม อย่าพยายามเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เขามีพร้อมทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะด้านฐานะ ความรู้ มันจะทำให้ตัวเองด้อยค่าลง เสมือนแสงหิ่งห้อยที่เปล่งแสงแวววับแข่งกับแสงตะวัน มันสู้กันไม่ได้ แต่ถ้ายินดีกับแสงน้อยๆ ที่มีอยู่ คือพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ตัวเราก็จะมีคุณค่า ในคืนเดือนมืด หิ่งห้อยจะเปล่งแสงงดงาม มีค่าในตัวมันเอง แม้แสงจะริบหรี่ก็ตาม แต่ก็ทำให้โลกดูสดใส สวยงาม น่าพิศวงทีเดียว
แต่ในทางพระพุทธศาสนา สอนให้คนมองโลกตามความเป็นจริง เข้าใจสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อเข้าใจในหลักสัจธรรมแล้ว ชีวิตเราก็จะมีความสุข
บรรดาแสงทั้งหลาย แสงตะวัน แสงจันทร์ แสงดาว แสงหิ่งห้อย แสงเหล่านี้เจิดจรัสได้แค่ภายนอกบางเวลา ส่วนแสงธรรมเจิดจรัสได้ทั้งภายในภายนอก ไม่จำกัดกาลเวลา เพราะฉะนั้นมวลมนุษย์ ควรจะแสวงหาแสงสว่างแห่งธรรม ซึ่งมันก็อยู่ในตัวเราเอง
เพียงแต่เราไม่สนใจที่จะเรียนรู้ หรือศึกษาตัวเองซึ่งประกอบด้วยธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) โดยย่อมี 2 คือ รูปกับนาม (กายกับใจ) ถ้าสนใจกำหนดเรียนรู้กายและใจ มีสติอยู่เป็นนิตย์ กำหนด จดจ่อ และรู้ตามความเป็นจริง ปฏิบัติกรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิต ธรรม) มรรค ผล นิพพาน อยู่แค่เอื้อม
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถแข่งแสงแห่งธรรมสู่กับคนอื่นหรือแสงอื่นๆ ได้ และแสงแห่งธรรมนี้ ไม่แปรผัน มั่นคง ยั่งยืนตลอดกาล
“แสงสว่างอะไรหรือจะสู้แสงสว่างแห่งพระธรรม”
ความสุข...ที่หายไป
ความสุขที่แท้จริง มันอยู่ที่ไหน ทำไมทุกคนจึงพยายามดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข แต่ยิ่งแสวงหาความสุข ดูเหมือนความสุขยิ่งเลือนหายไป คนในสังคมปัจจุบัน ตั้งคำถามว่า “ทำไมทุกวันนี้ ความสุขจึงมีน้อยลงเรื่อยๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน” สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ก็มาจากโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปตาม เพราะผู้คนต่างมุ่งแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอตัวเองอย่างเดียว เลยคิดว่า การแสวงหาวัตถุมาตอบสนองความต้องการของตัวเอง นั่นแหละคือความสุข แต่เราไม่เข้าใจความสุขที่ยั่งยืนกว่านั้น หรือว่าเราไม่รู้จักความสุข จึงหาความสุขไม่พบ บางคนอาจจะพูดขึ้นว่า “ทำไมจะไม่รู้จักความสุข เพราะสิ่งที่เราแสวงหานั่นคือความสุข”
อันที่จริงแล้ว ความสุขที่เราแสวงหากันนั้น มันจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะเราไปพึ่งสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ซึ่งไม่นานนัก สิ่งเหล่านี้จะจืดจางไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะได้ความสุขมานั้น ก็ต้องลงทุนสร้างทุกข์ก่อน เช่น เราจะซื้อของสักอย่าง เราก็ต้องทำงานหาเงิน ลงทุนแรงกายแรงใจ เพื่อให้ได้เงินมา เมื่อได้เงินมาแล้วซื้อสิ่งของที่ต้องการก็มีความสุขแล้ว แต่สักพักความสุข ก็เริ่มจางหายไปอีก
ชีวิตมักจะเป็นอย่างนี้ ความอยากความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด จิตใจโหยหาแต่สิ่งที่ต้องการตลอดเวลา เพราะจิตใจไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน แต่มันไปอยู่กับการสร้างเงื่อนไข อยู่ในความหวัง อยู่ในอนาคต คิดว่า ถ้าเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะมีความสุข ลองคิดดู สมัยเรายังเด็ก คิดว่า ถ้าเราเรียนหนังสือจบ ก็จะมีงานทำ คงจะมีความสุข สักพักถ้าเรามีแฟน คงจะมีความสุข ต่อมาถ้ามีบ้าน มีรถ จึงจะมีความสุข ต่อมาเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนทนทุกข์ทรมาน ก็คิดว่าถ้าเราตายไวๆ คงจะมีความสุข
แสดงว่าความสุขเราไม่เคยอยู่ปัจจุบัน มีแต่ความสุขเฟ้อฝันถึงอนาคต วาดวิมานในอากาศ บางคนวิ่งหาความสุขจนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ไม่เคยได้ความสุขที่แท้จริง อีกอย่างหนึ่ง เราไม่เคยยินดีในสิ่งที่เรามี ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองได้
สุขและทุกข์ ถ้ามองดูผิวเผินเหมือนเป็นสิ่งละอัน แต่ถ้ามองให้ลึกก็เหมือนสิ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนเหรียญ ก็มีสองด้าน เพราะสุขและทุกข์เป็นของคู่กัน และมันก็อยู่คู่กับโลก จะได้ความสุข ก็ต้องทุกข์ก่อน เหมือนเราจะกินผลไม้ ก็ต้องเตรียมดินที่ปลูก และรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย รอคอยจนกว่าผลไม้สุก ต้องอาศัยความอดทน ใส่ใจดูแลต้นไม้เป็นอย่างดี เมื่อผลไม้สุกได้กินแล้ว ก็เป็นสุข แป๊ปเดียวผลไม้ก็หมดไป ความสุขก็จางหายไป ก็เริ่มทุกข์อีก
ความสุขที่แท้จริง มันอยู่ตัวเราเอง ไม่ต้องไปอาศัยผู้อื่นหรือสิ่งอื่น แต่เป็นความความสุขภายใน คือภาวนา หมายถึงการเจริญสติ และปัญญา ทำให้จิตใจสงบ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน รู้ตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อปัญญาถอดความยึดมั่นได้แล้ว นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง
ความสุขมี 2 ประเภท คือ
สามิสสุข สุขอิงอาศัยอามิสคือวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นเหยื่อล่อ ได้แก่ กามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
นิรามิสสุข สุขไม่อิงอาศัยอามิส คือไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ เป็นสุขปลอดโปร่ง เพราะใจสงบ หรือรู้แจ้งตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เราอยากได้ความสุขแบบไหน จะเป็นสุขชั่วครั้งชั่วคราว หรือความสุขที่จีรังยั่งยืน สมการแห่งความสุขขึ้นอยู่ที่ตัวเราเป็นคนเลือก อย่าเศร้าใจเสียใจในอดีต และอย่าคำนึงถึงอนาคต แต่ต้องอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น ทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็มีสุขแล้ว
แมลงเม่ากับใจคน
ธรรมดาปุถุชนคนมีกิเลสหนา ถึงแม้จะรู้ว่าไฟมันร้อน แต่ก็พยายามกระเสือกกระสนที่จะเล่นกับไฟ ครั้งหนึ่งเคยนั่งคิดอยู่คนเดียวว่า ทำไมแมลงเม่าจึงชอบบินเข้ากองไฟ ทั้งที่รู้ว่าไฟมันร้อน แต่โดยธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานอย่างแมลงเม่า คงไม่มีปัญญาพิจารณาว่าไฟมันร้อน อาศัยสัญชาตญาณของมันเท่านั้นกระมัง ซึ่งแสงไฟทำให้มันตื่นตาตื่นใจ น่าเย้ายวน ชวนพิสมัย มันจึงหลงใหลในแสงไฟ กว่าจะรู้ว่าไฟมันร้อน ก็สายเสียแล้ว สุดท้ายตายในกองไฟ เปรียบใจคนเรา ถึงแม้จะรู้ว่าไฟมันร้อนแสนร้อน แต่ก็ยังดิ้นรนแสวงหาเชื้อเพลิงมาสุมเข้าอีก ปกติคนเรามีปัญญา แต่ทำไมจึงเดินเข้าหากองไฟล่ะ เลยตั้งคำถามขึ้นในใจว่า “แมลงเม่าหรือคนกันแน่ที่โง่”
บางครั้ง คนเราแม้มีปัญญามาก แต่ด้วยอาศัยอำนาจกิเลสครอบงำ ทำให้ชีวิตมืดมน หลงทางผิด สังเกตได้จากหลายๆ คนที่มีปัญญามาก ใช้ปัญญาในทางที่ผิด เอาเปรียบผู้อื่น คดโกง เพื่อให้ได้เงินมา หรือมีปัญญาในการผลิตอาวุธ วัตถุระเบิด เพื่อจะเข่นฆ่าผู้อื่น อย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้ปัญญาในทางผิด
คนประเภทนี้ แม้มีปัญญา แต่ก็ยังเป็นคนโง่อยู่ดี เพราะยังดิ้นรนจะเข้ากองไฟอยู่ร่ำไป ทำไมล่ะ เพราะไฟ 3 กอง คือ ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นเหยื่อล่อ ให้คนติดหรือลุ่มหลง จนไม่สามารถจะถอนตัวขึ้นได้นะซิ
แม้ไฟภายนอกจะร้อนแสนร้อน แต่ไฟภายในยิ่งเร้าร้อนกว่า ไฟภายในคือตัวกิเลสมันเผาไหม้คุกรุ่นมานานแสนนาน ชาติแล้วชาติเล่า เราก็ยังละไม่ได้ เว้นเสียแต่พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ท่านละไฟ 3 กองได้เด็ดขาดแล้ว แต่คนทั่วไปยังละไม่ขาด คงจะต้องประสบเจออีกต่อไป ไฟ 3 กอง คืออะไรบ้าง?
กองไฟคือราคะ ได้แก่ ความยินดี พอใจ ติดใจ ความต้องการหรือความพอใจในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
กองไฟคือโทสะ ได้แก่ความขัดเคืองใจ ไม่พอใจ คิดประทุษร้าย
กองไฟคือโมหะ ได้แก่ความหลง ความไม่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
กองไฟ 3 กองนี้ มันจะสุมทรวงให้ร้อนรนตลอดเวลา ถ้ามีอยู่ในใจผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อราคะ โทสะ และโมหะ มีกำลังแรงกล้า มันย่อมจะแผดเผาใจให้ร้อนรน นำความหายนะมาสู่ตนเอง และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จะทำอย่างไร จึงจะให้ราคะ โทสะ โมหะ หมดสิ้นไปจากจิตใจ หรือทำให้มันเบาบางลง ก่อนอื่นต้องฝึกให้มีสติ รู้เท่าทันมัน ไม่ทำตามอำเภอใจ และสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น เมื่อใจมีราคะ ก็รู้ว่าใจมีราคะ เมื่อใจมีโทสะ ก็รู้ว่าใจมีโทสะ เมื่อใจมีโมหะ ก็รู้ว่าใจมีโมหะ คือให้รู้ตามความเป็นจริง ทำอย่างนี้สติและปัญญามีกำลังแก่กล้า ก็สามารถละไฟคือกิเลส หรือทำให้เบาบางลงได้
ธรรมะกับสายใยแห่งรัก
จริงหรือไม่ “ความรักทำให้คนตาบอด” ซึ่งคงจะเป็นจริง เพราะเป็นความรักที่อิงอาศัยความใคร่ หรือความเสน่หา มันทำให้ใจลุ่มหลง จนไม่รู้จักถูกหรือผิด ใจสั่งมาแบบไหน ก็ทำอย่างนั้น พูดง่ายๆ คือทำตามใจสั่ง หรือตามอำเภอใจ ซึ่งเจือปนด้วยกิเลสตัณหา เรื่องชิงรักหักสวาทมีให้เห็นทั่วไป เมื่อไม่สมหวังในความรัก ผิดหวัง ชอกช้ำ ระกำใจ ก็ฆ่าตัวเองบ้าง ฆ่าคู่รักบ้าง ฆ่าคนอื่นบ้าง ใครจะนิยามความรักแบบไหน สุดแท้แต่คนจะนิยาม บางคนนิยามว่า ความรักคือการให้ บางคนอาจจะว่าความรักคือความสุข ฯลฯ ความรักบางครั้ง...ก็ทำให้คนเราเข้มแข็ง...แต่บางครั้ง...ก็ทำให้คนเราอ่อนแอ ท้อถอย หมดหวัง หมดกำลังใจ
อันที่จริงแล้ว ความรักแบบคู่สร้างคู่สม หรือเนื้อคู่กัน มันต้องมีเหตุมีปัจจัยของมัน ความรักเกิดมาจากเหตุใดบ้าง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ 2 ประการ อย่างนี้ คือ ด้วยความอยู่ร่วมกันในกาลก่อน 1 ด้วยการเกื้อกูลกันในกาลปัจจุบัน 1 เหมือนอุบล (อาศัยเปือกตมและน้ำ) เกิดในน้ำฉะนั้น.”
ความรักของใครจะเกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ตาม ถ้าเราจะรักกันให้มีความสุข ควรจะรักแบบบริสุทธิ์ใจมากกว่า คือคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ถ้ารักแบบจะเอาให้ได้ เพื่อครอบครองอย่างเดียว เมื่อไม่ได้แล้ว มันจะเป็นทุกข์ โศกเศร้า เสียใจ สมดังพุทธพจน์ว่า
“ความโศกเกิดแต่ความรัก ภัยคือความกลัวเกิดแต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ความกลัวจักมีแต่ที่ไหน” และอีกคำว่า “ที่ไหนมีรัก...ที่นั้นมีทุกข์”
จริงอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เมื่อมีรัก สักพักก็ต้องพลัดพลาดจากคนรักไป ทนกล้ำกลืน ฝืนทน ร้องห่มร้องให้จากคนที่รัก รักมากก็มากน้ำตา รักมากก็มากทุกข์ นี่แหละหนอ ความรักบางคราวคือยาพิษ การที่จะลืมคนที่เรารัก อาจยากเย็นเกินทำใจ แต่การเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ยากเย็นยิ่งกว่า...แต่ต้องทำ จะอย่างไรก็ตาม ชีวิตฆราวาสผู้ครองเรือน ก็หนีไม่พ้นการมีคู่ครอง ดังนั้นจึงต้องมีหลักธรรม สำหรับคู่ครองให้อยู่ร่วมกันอย่างยืนยาว
ทำอย่างไร ให้รักยืนยาว?
ความรักจะยั่งยืน ยืนยาวได้นั้น ต้องอาศัยหลักธรรมสำหรับคู่ชีวิต (สมชีวิธรรม)คือมีศรัทธาสมกัน, มีศีลสมกัน, มีจาคะสมกัน, มีปัญญาสมกัน และต้องมีหลักฆราวาสธรรมอีก พูดง่ายๆ คือต้องมีหลักค้ำไว้ 4 หลัก จึงจะให้ชีวิตคู่มีความสุข และมีความเจริญก้าวหน้า
- สัจจะ ได้แก่ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง พูดจริง ทำจริงทั้งต่อหน้าและลับหลัง การมีสัจจะต่อกัน จะสร้างรักให้ยืนยาว
- ทมะ ได้แก่ การฝึกฝนอบรมใจ ข่มใจ การปรับปรุงแก้ไข ปรับตัวให้เข้ากัน
- ขันติ ได้แก่ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร บากบั่นทนต่อความยากลำบาก
- จาคะ ได้แก่ การเสียสละ การละความสุขสบาย การสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อคนหมู่มาก พร้อมทั้งต้องเป็นคนใจกว้าง ยอมรับฟังเหตุผลของผู้อื่น
การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่กล่าวมานี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ชีวิตคู่จึงจะยืนยาว รักกันจนแก่เฒ่า ดังคำโบราณว่า “ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร”
รักบริสุทธิ์คือรักแบบไหน?
สายใยรักของพ่อเเม่ คือความรักบริสุทธิ์ที่ไม่ต้องไขว่คว้า เราเคยได้ยินเพลงอิ่มอุ่นเริ่มต้นว่า “อุ่นใดๆ โลกนี้ไม่มีเทียบเทียม อุ่นอกอ้อมเเขน อ้อมอกเเม่ตระกรอง รักเจ้าจึงปลูก รักลูกเเม่ย่อมห่วงใย ไม่อยากจากไปไกล เเม้เพียงครึ่งวัน” เป็นต้น ยังคงตราตรึงในหัวใจตลอดมา แม้เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูก แต่พ่อก็มีพระคุณเช่นกัน คือรักลูกเหมือนกัน อยากให้ลูกได้ดี ปรารถนาดีต่อลูก
เราต้องรักเเม่ให้มาก เรามีเเม่ได้คนเดียว จะไปหาที่ไหนไม่ได้อีกเเล้ว เเม้มีเงินทองมากมายเป็นมหาเศรษฐีก็ไม่สามารถหาซื้อเเม่ได้ เพราะเรามีเเม่ได้คนเดียว จึงต้องเทคเเคร์ดูเเลเเม่เป็นอย่างดี เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะสายเกินไป...
เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นลูกที่ดี กตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้กำเนิด ลูกจะมีหลายคน เเม่คนเดียวก็เลี้ยงได้ เเต่จะมีลูกสักกี่คนที่ขันอาสาเลี้ยงเเม่บ้าง การที่จะตอบเเทนบุญคุณของท่านให้หมดเป็นเรื่องที่ยากเเสนยาก
เเต่ในทางพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสบอกเเนวทางการทดเเทนบุญคุณหรือการมอบความรักที่บริสุทธิ์ต่อพ่อเเม่ไว้อย่างนี้ คือ
- ...ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธา ก็พยายามทำให้ท่านมีศรัทธาให้ได้
- ...ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ ก็พยายามชักนำท่านให้ยินดีในการให้
- ...ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้
- ...ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้
ความรักของพ่อเเม่ คือรักเเท้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยพรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิต อุเบกขา) วันเเล้ววันเล่า คืนเเล้วคืนเล่า พ่อเเม่ก็ยังห่วงใยเรา นี่เเหละคือสายใยรักของผู้ให้กำเนิด เป็นความรักที่บริสุทธิ์
ธรรมะจากแดนไกล...คนไกลบ้าน
ณดินแดนที่ไกลแสนไกล กว้างใหญ่ไพศาล นั่นคือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนกระเสือกกระสนดิ้นรนมา โดยหวังว่าจะเจอสิ่งที่ดีงาม ทั้งความเจริญทางด้านวัตถุ ทั้งการมีระเบียบวินัยของผู้คนในสังคม ทั้งความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต แม้บางคนมุ่งมา เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาค เพื่อการศึกษา เพื่อความก้าวหน้าของชีวิต ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบินมาในฟ้ากว้างท่ามกลางสายลมที่แปรปรวน ซึ่งติดปีกด้วยพระธรรม กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง มลรัฐนอร์ธแคโรไลน่า ต้องเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า จากการนั่งเครื่องบินนาน ก่อนที่เครื่องบินจะลงแตะพื้นรันเวย์ มองดูทางช่องหน้าต่าง เห็นต้นไม้เขียวขจี ท่ามกลางป่าสนที่อุดมสมบูรณ์ ก็นึกในใจว่า ทำไมเมืองนอก ป่าไม้เยอะขนาดนี้ ไม่ต่างจากบ้านนอกเมืองไทยเรา เมื่อถึงที่อยู่แล้ว ก็รีบนอนเอาแรง รุ่งขึ้นวันใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใส ออกเดินทางต่อ นั่งรถมุ่งหน้าสู่มลรัฐเซาท์แคโรไลน่า ลัดเลาะไปตามป่า คิดตลอดทางว่า แหม...เมืองนอกนี้ มันนอกจริงๆ เพราะมีแต่ป่าไม้ ปกคลุมทั้งสองข้างทาง จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่ว่า เราอยู่บ้านนอก หรือเมืองนอกกันแน่
เมื่อมาแล้ว ก็ต้องศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม จารีตประเพณีฝรั่ง สภาพสังคม การเป็นอยู่ของผู้คนในต่างแดน เมืองนอกค่อยข้างสะดวกสบาย เครื่องอำนวยความสะดวกมีครบทุกอย่าง ในแต่ละครัวเรือน ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทย ความเจริญด้านวัตถุยังต่างกันมาก ฝรั่งเจริญและทันสมัยมากกว่าเรา แต่ความเจริญด้านจิตใจอาจจะสู่คนไทยไม่ได้ ส่วนคนไทยที่อยู่ต่างแดน ก็เหงา ว้าเหว่ ขาดที่พึ่งทางใจ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่จะได้สามีเป็นฝรั่งกัน จึงพยายามขวนขวายสร้างวัดขึ้น เผื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจ และพัฒนาจิตใจบ้าง การสร้างวัดในดินแดนอเมริกา แม้จะยากแสนยาก แต่อาศัยกำลังศรัทธาของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ ฝรั่งก็มีบ้าง แต่ไม่มาก ทุกวันนี้วัดวาอารามในอเมริกามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาเจริญมากในอเมริกา เพียงแต่คนไทยมีเพิ่มขึ้น และกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ จึงได้พากันสร้างวัดขึ้น การเผยแผ่หลักธรรมในต่างแดน ยากพอสมควร สาเหตุหลักมาจากการสื่อสาร คือพระส่วนใหญ่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เวลาฝรั่งมาวัด ก็ไม่สามารถพูดแนะนำ หรืออธิบายให้เขาเข้าใจในหลักธรรม แต่บางวัดก็มีพระที่เก่งภาษา แต่มีจำนวนน้อยมาก บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษอย่างช่ำชอง
ฝรั่งส่วนใหญ่ที่มาวัด จะสนใจด้านกรรมฐาน ฝึกสมาธิกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กลุ่มฝรั่งที่สนใจด้านสมาธินี้ คือเป็นกลุ่มคนที่มีความทุกข์ทางใจและมีความสนใจอยากเรียนรู้ ฝรั่งทำอะไร เขาจะทำจริง เวลาปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ทำจริง แต่เขาไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะต้องทำงาน จะหยุดเฉพาะวันอาทิตย์ จึงจะมีโอกาสเข้าวัดเพื่อสวดมนต์ และเจริญจิตภาวนาบ้าง แม้จำนวนน้อย แต่ก็น่าภูมิใจที่เขายังสนใจ ใฝ่ธรรม
การที่จะให้แสงแห่งธรรมเจิดจรัสในตะวันตกนี้ ต้องทำงานกันหนักเผื่อจะให้เขายอมรับ แต่อย่างไรก็ตาม เราเป็นศิษย์ของตถาคตหรือลูกของพระพุทธเจ้า ต้องอดทน ทำงานเพื่อดำรงพระพุทธศาสนาในต่างแดนให้ได้
ปณิธานความตั้งแห่งการเดินทางมาต่างแดน เพื่อจะศึกษา เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่หลักธรรมสู่มวลมนุษย์ ทั้งกลุ่มคนไทย คนลาว คนเขมร คนเวียดนาม และฝรั่ง ตลอดคนทั่วไปที่สนใจศึกษาธรรมะ
อย่างไรก็ตาม ธรรมะจะติดปีกได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้นำต้องหนักแน่นในธรรมวินัยด้วย เก่งทั้งทางโลก ทางธรรมด้วย การสยายปีกแห่งธรรมให้กว้าง พร้อมบินไปทั่วหล้า เพื่อให้มวลมนุษย์ได้สัมผัสความสุขอย่างแท้จริง ผู้นำธรรมหรือผู้ให้ธรรมต้องมีความรู้คู่คุณธรรม รู้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ (รู้จำ รู้แจ้ง รู้แทงตลอด)
สำหรับคนไทยที่อยู่ต่างแดนนี้ โดยพื้นฐานก็เคยเข้าวัดอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งกว่านั้น ส่วนใหญ่ที่เข้าวัด จะค่อยข้างมีอายุมากแล้ว หนุ่มสาวหายาก แต่ก็มีบ้าง ยิ่งถ้าเป็นลูกครึ่งไทย แทบไม่เห็นหน้าเลย เพราะเด็กรุ่นใหม่ ก็จะไปตามเพื่อนฝูง หรือไม่ก็ไปโบสถ์คริสต์กัน ตามสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม บ้านเมืองของเขา
การปลูกฝังคุณธรรมศีลธรรมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ค่อยจะยากมาก แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็ยังยากเลย จะป่วยการไปไย ต่างประเทศเล่า แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะยากแสนยาก เมื่อเป็นธรรมทูต หน้าที่หลัก คือส่งมอบธรรมะให้แก่มวลมนุษย์
วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า ก็คิดปลอบใจตัวเองว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก่อนจะตัดสินใจ ประกาศธรรม หรือแสดงธรรม พระองค์ไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีก เพราะธรรมะเป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ครั้งแรกก็ไม่ทรงดำริจะประกาศพระสัทธรรม แต่อาศัยท้าวสหัมบดีพรหมมาอาราธนาให้เทศน์โปรดเวไนยสัตว์ พระองค์จึงตัดสินใจเทศน์สั่งสอน ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลมนุษย์ เริ่มต้นที่กลุ่มเล็กๆ คือ ปัญจวัคคีย์ 5 ท่าน (โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ) จนนักบวชกลุ่มนี้ได้รู้แจ้งเห็นจริง ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
อย่ากระนั้นเลย แม้คนจะน้อย เราก็ต้องสอน การสอนกรรมฐาน เป็นหนทางเดียว หรือทางสายเอก ซึ่งจะนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรค ผล นิพพาน นี่คือเป้าหมายสูงสุดของพระธรรมทูต
"เกิดเป็นคนต้องสร้างตนให้มีดี..บวชมาทั้งทีต้องสร้างดีให้แก่ตน"
ทะเลธรรม...ทะเลใจ
ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ ล้วนแต่มีเป้าหมายชีวิตแตกต่างกันไป ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างฝัน ร้อยพันอารมณ์ ร้อยล้านความรู้สึก จะอย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางหรือเป้าหมายที่แท้จริงของทุกคน คือต่างมุ่งหาความสุข ความสะดวกสบายด้วยกันทั้งนั้น
บางทีเวลาที่เราไม่สมหวังดั่งที่ตั้งใจไว้ ชีวิตจะดูเศร้า เหงา อ้างว้าง เดียวดาย อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทะเลทุกข์ถาโถมเข้ามาในชีวิต จะทำให้คนรู้สึกท้อถอย อ่อนล้า หมดกำลังที่เดินก้าวต่อไป แต่ถ้าคนมีสติปัญญา จะเอาความทุกข์เป็นบททดสอบความอดทนของตัวเอง ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคปัญหา เพราะทุกข์หรือตัวปัญหา ไม่ได้มีไว้ให้เราแบก แต่มีไว้ให้เราแก้ไข ต้องพูดกับตัวเองว่า ไม่มีทุกข์ แล้วจะสุขได้อย่างไร?
เมื่อเราเจอปัญหา ต้องคิดว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด เมื่อรู้สาเหตุปัญหาแล้ว ก็รีบหาวิธีแก้ไข ทำไปตามขั้นตอน ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์ ก็หมดไป อยู่ที่ว่าใจหนักแน่นแค่ไหน ทะเลใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ สรรพสิ่งล้วนสำเร็จด้วยใจ โดยปกติ ถ้าเคยไปชายทะเล มองไปท้องทะเลที่กว้างใหญ่ จะรู้สึกว่าทะเลนี้ ช่างสวยงาม และมีความอัศจรรย์ในตัวมันเอง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสความอัศจรรย์ ในมหาสมุทร 8 อย่างนี้
1. มหาสมุทรลุ่มลึกลาดลงไปโดยลำดับ มิใช่ลึกมาแต่เดิมเลย
2. มหาสมุทรตั้งอยู่ตามธรรมดาไม่ล้นฝั่ง
3. มหาสมุทรไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตายแล้วนั้นไป สู่ฝั่ง ซัดขึ้นบกโดยพลัน
4. แม่น้ำใหญ่บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมละนาม และโคตรเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรทีเดียว
5. แม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็ม ของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏ
6. มหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม
7. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่ ชนิดเดียว รัตนะในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต
8. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ใหญ่ๆ สัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ ปลามหาติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ อยู่ในมหาสมุทร มีลำตัวตั้งร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มี สามร้อยโยชน์ก็มี สี่ร้อยโยชน์ก็มี ห้าร้อยโยชน์ก็มี
ทะเลภายนอกที่มองเห็นตัวตา มีความอัศจรรย์อย่างแท้จริง ถ้าเปรียบคลื่นทะเลกับชีวิต คลื่นทะเลเสมือนกับทุกข์หรือปัญหา ที่โหมเข้ามาในชีวิต ระรอกแล้วระรอกเล่า สมัยเคยไปเดินทะเล ยิ่งหน้ามรสุมคลื่นทะเลจะสูงมาก เหมือนทะเลกำลังบ้าคลั่ง จนดูน่ากลัว แต่ถ้าไปวันที่อากาศโปร่งใส ไม่มีพายุ ไม่มีลมพัด ทะเลก็เงียบสงบนิ่ง จนรู้สึกว่ามันขาดอะไรไปบางอย่าง ทุกคนเคยพูดว่า "ทะเลจะสวยต้องมีคลื่น ชีวิตจะราบรื่นต้องมีอุปสรรค" ดูจะเป็นจริง
ทะเลภายในใจ บางครั้งอาจจะเป็นทะเลทุกข์ บางคราวก็เป็นทะเลสุข คละเคล้าปะปนกันไป เหมือนทะเลภายนอก บางครั้งก็มีคลื่น บางคราวก็สงบ ต้องทำใจ ยอมรับความจริง เมื่อทุกข์ ก็อย่าท้อ เมื่อสุข ก็อย่าดีใจ ต้องคิดว่า เมื่อสุขได้ ทุกข์ก็มีได้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
ทะเลเพลิงคือกิเลส ที่พามวลมนุษย์ให้มัวเมาลุ่มหลง ไม่ยอมวายข้ามฝั่งสักที มั่วแต่วายเลาะอยู่ตามฝั่ง มนุษย์จำนวนน้อยที่วายถึงฝั่ง (นิพพาน) ทะเลทุกข์ไร้ฝั่ง จงไปให้ถึงฝั่ง คือความสุข
ทำไมล่ะ มวลมนุษย์จึงไม่ย่อมว่ายให้ถึงฝั่ง เพราะยังติดอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ที่เย้ายวน ชวนให้หลงนะซิ ห้วงน้ำคืออะไรบ้างล่ะ
- ห้วงน้ำคือกาม ได้แก่ความยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
- ห้วงน้ำคือภพ ได้แก่ความอยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง
- ห้วงน้ำคือทิฏฐิ ได้แก่ความเห็น ในที่นี้หมายถึงความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นชั่วเป็นดี หรือเห็นดีเป็นชั่ว เป็นต้น
- ห้วงน้ำคืออวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริง
อย่างไรก็ตาม เมื่อติดอยู่ในห้วงน้ำคือกิเลสเหล่านี้ มีแต่มันจะพัดพาให้ท่วมใจ และมันก็เป็นเหยื่อล่อให้คนลุ่มหลง สุดท้ายนำความหายนะมาสู่ตน ทำอย่างไร จะข้ามห้วงน้ำคือโอฆะได้ ก่อนอื่นต้องฝึกฝนตนเองด้วยทะเลธรรมคือฝึกให้มีสติ ด้วยการเจริญจิตภาวนา เมื่อมีสติสมบูรณ์ กำหนดรู้ตามเป็นจริง ปัญญาก็จะเกิดเพื่อละกิเลส คือห้วงน้ำเหล่านี้ เมื่อละกิเลสคือทะเลทุกข์ได้แล้ว ก็จะเป็นผู้ว่ายถึงฝั่งคือพระนิพพาน
"ทะเลทุกข์จะสอนให้จดจำ...ทะเลธรรมจะนำสุขให้ทุกคน"
อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน
อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ
ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ถึงฝั่ง(นิพพาน)ได้ มีน้อย
ส่วนคนนอกนี้ ได้แต่วิ่งเลาะฝั่งเท่านั้น
เย จ โข สมฺมทกฺขาเต ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ
คนที่ประพฤติสมควรแก่ธรรมในธรรมที่เรากล่าวแล้วโดยชอบ
ก็จักข้ามบ่วงมฤตยูอันข้ามได้ยากจนถึงฟากฝั่งได้
มหัศจรรย์ของชีวิต
ความมหัศจรรย์ของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากที่สุดของมวลมนุษย์ บางคนเกิดมาพบกับสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้แล้ว มัวแต่ประมาท ปล่อยชีวิตเปล่าประโยชน์ ไม่สนใจในชีวิตว่าจะมีแก่นสารหรือไม่มีแก่นสาร บุคคลประเภทนี้น่าสงสาร เสียชาติเกิดทีเดียว เมื่อได้เกิดมาพบพุทธศาสนา แต่เอาดีไม่ได้ คือไม่สร้างความดีนั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเกิดมาพบกับสี่สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ จึงควรรีบก่อสร้างทางกุศลไว้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสี่สิ่งมหัศจรรย์ของชีวิตที่หาได้ยาก ในคัมภีร์พระไตรปิฎกอย่างชัดเจนทีเดียว สี่สิ่งมหัศจรรย์ของชีวิต มีอะไรบ้าง?
ประการที่หนึ่ง การได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นเรื่องยากแสนยากที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพราะอะไรล่ะ เพราะว่าการเกิดเป็นมนุษย์นั้น จะต้องมีความเพียรในการขวนขวายสร้างบุญกุศล คุณงามความดีตั้งแต่อดีตชาติ เผื่อจะจุติเกิดในครรภ์ของมารดา เมื่อจุติในครรภ์แล้ว ก็ต้องทนอยู่ในครรภ์อีก 9 เดือน เผื่อจะคลอดออกมาลืมตาดูโลก บางคนต้องตายในขณะที่คลอดบ้าง หรือคลอดออกมาไม่กี่วันก็ตายบ้าง เห็นไหมล่ะ ยากแค่ไหน
ประการที่สอง การมีชีวิตอยู่ของมวลมนุษย์ เป็นการยากแสนยาก เพราะอะไรล่ะ เพราะว่ามนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการค้าขายบ้าง ด้วยกสิกรรมบ้าง เมื่อเกิดมาแล้ว การที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยปลอดภัย ก็ยิ่งยากอีก กว่าพ่อแม่จะเลี้ยงให้เติบโตขึ้นมาได้ พ่อแม่ ต้องลำบาก ทำงานหนัก เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า เพื่อหาเงินมาซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้าให้ใส่ และส่งเสียค่าเทอมให้เราได้ศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ และจบออกมาก็ต้องทำงาน เราเคยคิดบ้างไหมว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า การที่จะประคับประคองชีวิตให้ตลอดรอดฝั่ง ช่างยากเหลือเกิน บางคนต้องประสบกับอุบัติเหตุบ้าง ตกงานบ้าง เสี่ยงกับอันตรายรอบด้าน ภัยเกิดแต่โจรบ้าง กลุ่มมิจฉาชีพบ้าง ภัยเกิดจากธรรมชาติบ้างเช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น เรียกว่า ความเสี่ยงรายวัน จะรักษาชีวิตให้อยู่รอดโดยสวัสดี ยากจริงหนอ
ประการที่สาม การได้ฟังพระสัทธรรมเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะอะไรล่ะ เพราะว่าการที่จะได้ฟังธรรมนั้น ต้องมีบุคคลผู้รู้ธรรมแสดงให้ฟัง การที่จะหาบุคคลแสดงธรรมให้ฟังนั้น นานแสนนาน โชคดีที่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมจากสาวกของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันนี้ ยังมีพระภิกษุสงฆ์ผู้สืบทอดคำสั่งสอน ซึ่งทำหน้าที่ในการเผยแผ่พุทธพจน์อยู่ เพื่อให้หมู่มนุษย์ได้รับฟัง
จะอย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธศาสนาจะล่วงมาถึงกึ่งพุทธกาลแล้ว แต่ยังมีผู้แสดงธรรมหรือบรรยายธรรมอยู่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐแล้ว ในกัปที่ว่างจากพุทธศาสนา มันนานมาก จนไม่รู้จะนับอย่างไร จึงจัดเป็นอสงไขย เคยมีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า กัปหนึ่ง มันนานแค่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า กัปหนึ่ง นานมาก ถ้าจะอุปมาคือ มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งในมหาสมุทร ที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีห่วงชิ้นหนึ่งลอยบนมหาสมุทร พอที่เต่าจะสวมเข้าคอได้ แต่ห่วงนี้ถูกลมพายุพัดพาไปทุกทิศ ในร้อยปี เต่าตัวนี้จะโผล่หัวเหนือน้ำครั้งหนึ่ง จนกว่าจะโผล่หัวสวมเข้าที่ห่วงพอดี จึงจะเป็นกัปหนึ่ง เรามาคิดดูแล้ว มันนานจริง สุดจะคณานับ
ประการที่สี่ การอุบัติ (เกิด)ของพระพุทธเจ้า ยิ่งเป็นอภิมหายากอีก เพราะอะไรล่ะ เพราะว่า ต้องอาศัยความพยายามมากในการที่จะสร้างบารมีให้ถึงพร้อม เพื่อจะได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า มวลมนุษย์รอการอุบัติของผู้มีอภินิหารอันสำเร็จแล้วมิใช่จะหาได้ง่าย พวกเราถือว่ามีโชคแล้ว ที่เกิดมาทันยุคพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นานแล้วก็ตาม แต่คำสั่งสอนของพระองค์ยังคงอยู่ ให้เราได้ศึกษา และปฏิบัติ จนนำตนให้พ้นจากทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น จงภูมิใจในการเกิดมาเป็นมนุษย์พบสิ่งมหัศจรรย์ของชีวิต แม้จะเกิดในตระกูลยากดีมีจนก็ตาม แต่ก็ถือว่าเกิดมาพบของวิเศษที่ล้ำค่า เมื่อรู้ว่าเรามีค่าขนานนี้ ควรจะสร้างคุณค่าให้เกิดกับตัวเองให้มาก คือสร้างความดี ได้แก่บุญกุศลไว้ให้มาก
อย่าทำลายโอกาสที่ดี ซึ่งหาได้ยากแสนยาก บางทีคนเราทำลายคุณค่าความเป็นคน ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา เพราะผิดหวัง ไม่สมหวังในหน้าที่การงาน หรือความรัก เป็นต้น เลยประชดชีวิตตนเอง ด้วยการหันไปพึ่งเหล้าบ้าง ยาเสพติดบ้าง
สุดท้ายก็ทำลายตัวเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ ชีวิตก็จะไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่สมกับการได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงควรคิดใหม่ ทำใหม่ หันมาสนใจตัวเองให้มากขึ้น รักตัวเองให้มาก เมื่อมีกาย ก็ใช้กายให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้กายทำความดี เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น เมื่อมีใจ ก็ใช้ใจให้ถูกต้อง เช่น คิดในทางที่สร้างสรรค์ คิดในแง่สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น กายกับใจ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนจะพ้นจากทุกข์ ก็ต้องรู้กายรู้ใจ เห็นกายใจตามความเป็นจริง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎธรรมชาติ
...สิ่งมหัศจรรย์สูงสุดของชีวิต คือ จิตบริสุทธิ์...
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท
การได้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นการยาก การมีชีวิตอยู่ของปวงสัตว์ เป็นการยาก การฟังพระสัทธรรม เป็นของยาก การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการยาก
ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์
บนโลกใบนี้ ทุกคนเกิดมาก็ต้องเจอทุกข์ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าไม่เคยเจอทุกข์หรืออุปสรรค ปัญหาใดๆ ในชีวิต เพราะทุกข์ มันมาคู่กับการเกิด เมื่อเราเกิด ก็ต้องทุกข์อยู่ร่ำไป จะยากดีมีจนก็ต้องประสบทุกข์ด้วยกัน คนรวยก็ทุกข์แบบคนรวย คนจนก็ทุกข์แบบคนจน หรือคนรวยอาจจะทุกข์ทางใจมากกว่าคนจนก็ได้ ไม่แน่นอนเสมอไป บางคนพอทุกข์หน่อย ก็หาวิธีแก้ทุกข์ด้วยการเสพของมึนเมา หรือยาเสพติด เป็นต้น เพื่อจะให้ลืมความทุกข์ อาจจะแก้ทุกข์ได้ชั่วคราว หรือไม่ก็ทุกข์หนักกว่าเดิม เช่น เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
จะอย่างไรก็ตาม อย่าพยายามหนีความทุกข์ ต้องกล้าเผชิญกับความทุกข์ เพราะความทุกข์สอนให้เราเข้มแข็ง มิใช่ให้เรายอมแพ้หรืออ่อนแอ อันที่จริง ควรจะขอบคุณความทุกข์เสียด้วยซ้ำ ที่สร้างให้เรามองดูโลกตามเป็นจริง ดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น สร้างให้เติบโตอย่างกล้าหาญ และทุกข์เป็นพลังขับเคลื่อนได้หลายอย่าง และเป็นแรงผลักดันให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต
ความทุกข์ มี 2 ประเภท คือ
กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย) คือ ความไม่สบายกาย เช่น การเจ็บไข้ ร่างกายพิกลพิการ แก่ชราภาพ ร้อนเกินไป หนาวเกินไป เหล่านี้เป็นต้น
เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ) คือความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ หรือ ไม่สมหวังในหน้าที่การงานบ้าง ไม่สมหวังในความรักบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
ถามว่า "ทุกข์กายกับทุกข์ใจ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน" ตอบว่า "ทุกข์ใจสำคัญมากกว่า" เพราะหากเรามีกำลังใจดี ทุกข์กายยังพอไหว แต่ถ้าทุกข์ใจ อาการหนัก น่าเป็นห่วง แม้ร่างกายจะสมบูรณ์ก็ตาม ใจจะอ่อนแอ จะยอมแพ้แบบง่ายๆ ไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป
บางครั้ง ถ้ามองโลกในแง่ดี จะเห็นว่าทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิตและโลก จะเห็นได้จากสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สร้างมันขึ้นมาได้ ก็อาศัยความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ลำบากทั้งกายและใจ เพื่อจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เสร็จ ยกตัวอย่างเช่น กำแพงเมืองจีน ทัชมาฮาลที่อินเดีย และปิรามิดที่อียิปต์ เป็นต้น ล้วนแต่ต้องอาศัยกำลังคนในการก่อสร้าง ต้องทนทุกข์ทรมาน หลายคนต้องล้มตายในขณะที่สร้าง เห็นไหมล่ะ ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ไว้บนโลกใบนี้ แต่อาจทิ้งความเศร้าไว้เบื้องหลังก็มี
ถ้าไม่รู้จักทุกข์ แล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร พุทธเจ้าสอนให้รู้จักทุกข์ และวิธีดับทุกข์เท่านั้น ตัวทุกข์ เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นว่า "ตัวกู" และ "ของกู" จะดับทุกข์ก็ต้องละความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง เมื่อไม่ยึดมั่นแล้ว จิตใจก็จะปลอดโปร่ง สงบ
เพราะฉะนั้น ต้องบอกตัวเองว่า ทุกข์สร้างคนให้เข้มแข็งหรืออ่อนแอก็ได้ อย่ากระนั้นเลย จงยิ้มรับกับทุกข์เสมือนเป็นเพื่อนแท้ เพราะเราหนีจากมันไม่ได้ ขาดทุกข์แล้วจะรู้ว่าชีวิตขาดรสชาติไป ทุกข์ไม่มี แล้วสุขจะมีได้อย่างไร พยายามให้กำลังตัวเอง โดยปกติมวลมนุษย์จะรักสุข เกลียดทุกข์ ทำไมล่ะ จึงเป็นแบบนั้น เพราะไม่อยากยอมรับความจริง พยายามจะเลี่ยงความทุกข์ด้วยสิ่งอื่น สุดท้ายก็ต้องประสบกับทุกข์อีกเหมือนเดิม บ่อยครั้งที่คนต้องท้อแท้ หมดหวัง เมื่อทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิต
แต่บ่อยครั้งที่ทุกคนสร้างทุกข์ให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของชีวิต เอาทุกข์มาเป็นบททดสอบความอดทน ทุกข์จะพาเราสู่ความรุ่งโรจน์หรือเป้าหมายของชีวิตได้
ทุกข์กับสุขเป็นของคู่กันในโลกใบนี้ จงจำไว้เสมอว่า จะได้สุข ก็ต้องทนทุกข์ก่อน จะถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องเจอทุกข์ รู้ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นสร้างคนให้เป็นคน ทุกข์เท่านั้นสร้างคนให้เป็นอริยบุคคล
มีทุกข์ ก็มีสุข...ขาดทุกข์ ก็ขาดสุข
ขอบคุณ...ความจน
ชีวิตนี้ เลือกเกิดไม่ได้ แต่เราก็สามารถเลือกชีวิตได้ คือเลือกทางเดินที่ถูกต้องให้กับตัวเอง มวลมนุษย์เกิดมาท่ามกลางความยากจน ความลำบาก แต่คนน้อยนัก ที่จะเกิดมาท่ามกลางความสมบูรณ์พูนสุขด้วยทรัพย์สินเงินทอง มั่งมีศรีสุข อยู่เย็นเป็นสุข จะอย่างไรก็ตาม สำหรับคนจนแล้วต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะหนีจากความจน บ่อยครั้ง ที่เราหนี แต่หนีไม่พ้น คนทั่วไปเกลียดความจน คนจนจึงพลอยซวยไปด้วย ไม่มีใครอยากคบกับคนจน นี่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ดีมีเงินทั้งหลาย มักจะดูถูก เหยียดหยามคนจนว่า ต่ำต้อย กระจอก สารพัดจะสรรหาคำมาเหยียดหยามกัน
แต่บางคนไม่ท้อแท้กับความจน และเอาความจนสร้างตนให้ยิ่งใหญ่ นำความร่ำรวยมาสู่ตนเอง ยกตัวอย่างเช่น คนจีน อพยพจากเมืองจีน ล่องเรือสำเภา มาถึงเมืองไทย ไม่มีอะไร เสื่อใบ หมอนใบ แต่อาศัยความพยายามมุ่งมานะ อดทน สู้ไม่ถอย สุดท้ายก็กลายเป็นมหาเศรษฐี และเป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทย อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ควรจะขอบคุณความจนที่สร้างให้มีวันนี้ได้ ความจนทดสอบให้รู้ว่าเราเข้มแข็งหรืออ่อนแอ และความจนก็เป็นบทพิสูจน์ความอดทนของเรา เพราะเหตุนั้น อย่าเสียใจที่เกิดมาจน เพราะความยากจนไม่ทำลายใคร มีแต่จะสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่เข้มแข้ง
คนจน แยกออกเป็น 2 ประเภท อย่างนี้คือ
จนเพราะไม่รู้จักพอ คนประเภทนี้น่าสงสาร ถึงแม้จะมีมากมายก่ายกอง แต่อาศัยความโลภ อยากมีมากกว่าที่เป็นอยู่ เลยกลายเป็นคนหิวโหยตลอดเวลา ไม่ค่อยจะรับความสุขทางจิตใจ เพราะไม่รู้จักพอ
จนเพราะไม่มี คนประเภทนี้น่าเห็นใจ การดำรงชีวิตแบบลำบาก ปากกัดตีนถีบ แต่เป็นคนมีความขยันทำมาหากิน พอดำเนินชีวิตไปได้ และอาจจะมีความสุขมากกว่าคนประเภทแรกก็ได้
โบราณว่า "จนอะไรก็จนได้ แต่อย่าจนน้ำใจ" ถ้าไม่จนน้ำใจ จะเป็นคนมีเพื่อนมาก เวลาลำบากก็จะมีคนช่วยเหลือ แต่ถ้าจนแล้วไม่มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ยิ่งจะทำให้ตัวเองตกต่ำ และด้อยคุณค่า
ความจนสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิต และเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตได้หลายอย่าง เช่น ความจนสร้างคนให้เป็นคน เป็นต้น ความจนสร้างคนให้เป็นคนได้อย่างไร? คนจนถ้ารู้จักเจียมตัว อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หลงตัวเอง มีธรรมะอยู่ในใจ คือประพฤติธรรม ก็สามารถทำตนให้มีความสุข คนอื่นก็อยากช่วยเหลือ เพราะเป็นคนดี จนแล้วต้องเจียมด้วย ถ้าไม่รู้จักเจียม คนอื่นมีแต่จะสมเพชเวทนาเรา ไม่มีใครอยากจะช่วยเหลือ
คนรวยส่วนใหญ่มักจะหลงตัวเอง ประมาทในชีวิต เคยเห็นลูกคนรวยหลายคนใช้ชีวิตไปกับสิ่งของมึนเมาหรือยาเสพติด ผลาญเงินพ่อแม่ สร้างแต่ปัญหา ติดคุกติดตะราง พ่อแม่ก็พลอยทุกข์ใจไปด้วย
แม้จะมีเงินทองมาก ถ้าใช้จ่ายไม่ประหยัด ติดการพนัน สุดท้ายก็กลับกลายเป็นคนจนได้ อย่ากระนั้นเลย จงทำชีวิตให้มีค่า ยึดหลักธรรมดำเนินชีวิตไม่ประมาท ความสุขรออยู่ข้างหน้า
ทำไม ต้องขอบคุณความจนด้วยล่ะ เพราะความจนสร้างคนให้เข้มแข็งและอดทน ความอดทนเป็นสิ่งขมขื่น แต่ผลของมันหวานฉ่ำเสมอ
เกิดมาจน ต้องขยัน หมั่นศึกษา
หาวิชา ความรู้ เพิ่มดีกรี
อย่าดูถูก ตัวเอง ด้อยศักดิ์ศรี
เป็นคนดี นำสังคม สู่ร่มธรรม
ขอขอบคุณ ความจน ที่เสี้ยมสอน
ต้องสัญจร จากถิ่น ที่อาศัย
เพราะความจน บังคับ ให้จากไกล
จึงมุ่งไป สู่แดน แห่งพระธรรม
ปริญญาใจ...ปริญญาธรรม
สังคมปัจจุบันนี้ ผู้คนทั้งหลาย ต่างขวนขวายแสวงหาใบปริญญากัน บางคนก็จบปริญญาหลายแขนง หลายสาขาวิชา เพื่อจะได้อวดความรู้หรือดีกรีของตัวเอง ว่าเป็นคนเก่งมีการศึกษาสูง ยิ่งถ้าจบจากเมืองนอก เป็นดอกเตอร์ด้วยแล้ว คนทั่วไปก็ยอมรับนับถือว่าเป็นคนมีความรู้ มีความสามารถ และมีประสบการณ์สูง ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือกระทั่งปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ ปริญญาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรู้ทางโลก คือขั้นโลกียะเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถจะสร้างความสุขที่จีรังได้ จนกลายเป็นคนมีความรู้ทั่วหัว แต่ขาดความสุขในชีวิต บางครั้งก็ดูน่าสงสาร บางคราวก็น่าเห็นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางคนยิ่งจบสูง...ยิ่งทุกข์มาก เพราะมีความทะเยอทะยานมาก คือมีความอยากมาก ไม่รู้จักพอ เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็เป็นทุกข์ เครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล สุดท้ายก็ป่วยเป็นโรคทางจิต เมื่อจิตถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอกและภายใน ใจก็เริ่มกระสับกระสาย กระวนกระวาย จึงส่งผลให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ เป็นต้น
แต่ค่าของคนจริงๆ อยู่ที่ผลของงาน มิใช่อยู่ที่การศึกษาหรือใบปริญญา อย่าหลงตัวเองว่า มีปริญญาแล้วจะเก่งกว่าคนอื่น หรือฉลาดกว่าคนอื่น คนไม่มีใบปริญญา ก็อาศัยประสบการณ์ในการทำงาน เก่งกว่าพวกที่จบดอกเตอร์จากเมืองนอกก็มี เห็นได้จากหลายๆ คน
ใบปริญญาที่มหาวิทยาลัยมอบให้หลังจบการศึกษา สำคัญก็จริง แต่ปริญญาใจหรือปริญญาธรรมสำคัญยิ่งกว่า หากมีแต่ใบปริญญา แต่หัวใจไร้ปริญญาธรรม ก็ดูเหมือนเป็นคนไม่มีที่พึ่งทางใจ และไม่ค่อยจะมีความสุข ถ้าหัวใจมีปริญญา (ความรอบรู้) รู้จักที่จะดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ดำรงชีวิตแบบพอเพียง รู้ตน รู้คน รู้งาน หนทางที่จะประสบความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อม
ปริญญาธรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่คนไม่ให้ความสนใจสักเท่าไหร่ มุ่งแต่ใบปริญญา ใบประกาศนียบัตรกัน จนลืมปริญญาธรรมกัน เพราะฉะนั้น พวกเราควรจะมุ่งแสวงหาปริญญาธรรม คว้าปริญญาธรรมให้ได้สักใบเป็นอย่างน้อย คงจะดีทีเดียว
ปริญญาธรรม มีกี่ใบล่ะ? มี 3 ใบ คือ
-ญาตปริญญา คือการกำหนดรู้ในสิ่งที่รู้จักแล้ว ในขั้นนี้คือต้องรู้จัก พูดง่ายๆ คือรู้ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งนี้มีประโยชน์ สิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ รู้คุณรู้โทษ รู้บาป รู้บุญ
-ตีรณปริญญา คือ รู้ด้วยการพิจารณา รู้ในขั้นพิจารณา เช่นรู้เวทนา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นต้น รู้ว่าทำสิ่งนี้ไปแล้ว มันจะให้ผลอย่างไร ค่อยข้างจะใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง พิจารณาโดยละเอียด
-ปหานปริญญา คือรู้ด้วยการละ กำหนดรู้ในการละความโลภ ความโกรธ และความหลง การละมีอยู่ 3 ระดับ คือ ละด้วยการข่มไว้, ละหรือยับยั้งไว้ชั่วขณะ,ละได้เด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ปริญญาธรรม 3 ใบนี้ควรต้องมีไว้ ถ้าเปรียบกับปริญญาทางโลกตามลำดับขั้นที่หนึ่ง (ปริญญาตรี) ที่สอง (ปริญญาโท) ที่สาม (ปริญญาเอก) แม้บางคนอาจจะไม่มีปริญญาทางโลก แต่มีปริญญาธรรม ก็ถือว่าเป็นคนสมบูรณ์ จบดอกเตอร์ทางธรรมได้ นับเป็นผู้เชี่ยวชาญ ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ถ้ามีแต่ปริญญาทางโลก ขาดปริญญาทางใจ ก็ดูยังไม่สมกับการเกิดมาเป็นคนสักเท่าไรนัก ฉะนั้น จึงควรสร้างปริญญาธรรมให้สว่างไสวในจิตใจ เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้น มันจะทำให้เราเข้าใจตามความเป็นจริง
อย่างไรก็ดี คนในโลกนี้ มุ่งจะคว้าปริญญาทางโลก เบือนหน้าหนี หรือหันหลังให้กับปริญญาธรรม บางทีอาจคิดว่าใบปริญญาทางโลก มันช่วยให้เรามีงานทำ มีเงินใช้ มีหน้ามีตาในสังคม นำความรุ่งเรืองมาสู่ชีวิต ข้อนี้มันก็จริง แต่เราควรเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย
รู้โลกรู้ธรรม รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง เข้าใจในกฎธรรมชาติ กฎแห่งกรรม คือรู้แจ้ง รู้จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงจะได้เป็น "บัณฑิต" ความรู้หรือปัญญาเกิดได้สามทางคือ ปัญญาเกิดจากการคิด, ปัญญาเกิดจากการศึกษาเล่าเรียนและการฟัง, ปัญญาเกิดจากการภาวนาคือการเจริญกรรมฐาน ฝึกฝนอบรมใจ จนจิตมีสมาธิ แล้วปัญญาก็เกิดขึ้นตามกระบวนการของมันเอง ไม่ต้องไปนึกคิดเอาเอง หรือปรุงแต่งมันขึ้น ความสุขที่แท้จริง ก็รออยู่ข้างหน้า และรอให้เราไปสัมผัสเอง
"ปริญญาใจนำพาให้สุขสันต์...ปริญญาธรรมนำสุขให้ทุกคน"
ฤดูกาลแห่งชีวิต
ชีวิตคือการเดินทางและการต่อสู้ สุดแล้วแต่ละคนจะนิยามความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การเดินทางต้องมีการเริ่มต้นที่ก้าวแรกก่อน และจนถึงก้าวสุดท้าย คือจุดหมายปลายทาง ชีวิตเริ่มต้นที่เกิด ต่อมาแก่ เจ็บ และสุดท้ายตาย มันเป็นกฎธรรมชาติที่สอนเราให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนเวียนไปตามกาลเวลา ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้กฎธรรมชาติ เข้าใจมันว่า ทุกสิ่งมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด มันเตือนให้เราไม่ประมาทในชีวิต ควรประกอบคุณงามความดีไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป
บางคนผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน ครั้งแล้วครั้งเล่า ของช่วงฤดูกาลที่ผันแปร บางฤดูกาลเราอยากจดจำบางอย่าง และอย่าลืมบางเรื่อง อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลมันสอนให้เราเข้าใจธรรมชาติ จะเข้มแข็งอยู่บนโลกใบนี้ได้ ต้องอดทนได้กับฤดูกาลด้วย ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว เหมือนกับต้นไม้จะแข็งแกร่งได้ ก็ต้องทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และฤดูกาล ถ้าต้นไม้ใด ไม่ทนต่อฤดูกาล สุดท้ายต้นไม้นั้น ก็ต้องตายหรือเป็นต้นไม้แคระไป เราสังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นที่แข็งแกร่ง ต้องทนต่อลมพายุ สายฝน แสงแดด และความหนาวเย็น มันจึงเป็นต้นไม้ที่มีค่า มีราคา ผู้คนก็มุ่งจะเอามาทำประโยชน์ เช่น สร้างบ้าน เป็นต้น
ชีวิตคนเราก็เหมือนกันจะมีค่า มีประโยชน์ ก็ต้องผ่านความร้อนอย่างทุกข์ทรมาน ผ่านสายฝนที่เย็นฉ่ำ และผ่านความหนาวเหน็บ ครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะเป็นบุคคลที่เข้มแข็ง และมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป กว่าคนอื่นจะนับถือ หรือยอมรับในสังคม วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า สะสมประสบการณ์ชีวิตไปเรื่อยๆ ฝึกตนเองให้ช่ำชอง ก็จะกลายเป็นวีรบุรุษที่โลกต้องการ และรอคอย
แม้บางคนจะผ่านฤดูกาลแห่งชีวิตที่หลากหลาย ทั้งที่ควรภูมิใจและไม่น่าภูมิใจ ทั้งที่ควรจำและไม่ควรจำ ฉะนั้นถ้าจะเปรียบฤดูกาลกับชีวิตคนเรานั้นก็ไม่แตกต่างกัน เพราะชีวิตต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ นานา ล้ม ลุก คลุกคลาน เผื่อจะมีชีวิตรอดมาได้ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ คลุกเคล้ากันไป แต่ธรรมชาติก็พยายามจะสร้างความสมดุลให้แก่โลก เพื่อโลกจะตั้งอยู่ได้ เมื่อหน้าร้อน อากาศร้อนอบอ้าว สักระยะหนึ่ง หน้าฝนก็จะมาแทนที่ ฝนก็จะตกลงมา นำความชุ่มเย็นมาสู้แมกไม้ และมวลมนุษย์ สักระยะหนึ่ง เมื่อฝนเริ่มสร่างซา ก็จะย่างก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว ในหนึ่งปี ฤดูกาลจะหมุนเวียนไป เพื่อจะปรับความสมดุลของโลก
จะอย่างไรก็ตาม ชีวิตเราหมุนเวียน เปลี่ยนแปลงไปสู่กฎไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การไม่เที่ยงแท้ การทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และการไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ชีวิตทุกคนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย และกฎธรรมชาติ กรรมคือการกระทำเป็นตัวแปรให้คนแตกต่างกัน จะเลว หรือประณีต กรรมเป็นตัวจำแนก จะเลวเพราะชาติกำเนิด ก็หาไม่ จะดีเพราะชาติกำเนิด ก็หาไม่ แต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำต่างหาก ที่วัดว่าเป็นคนดีหรือคนเลว
เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมเป็นตัวแปรในชีวิตเรา จงสร้างกรรมดีไว้ให้มาก เมื่อสร้างความดีแล้ว ก็จงรักษาความดีไว้ด้วย เสมือนเกลือรักษาความเค็ม ฉะนั้น เพราะกรรมดีเท่านั้น ที่จะเป็นเหตุปัจจัยส่งผลให้เราเกิดมา ในตระกูลที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี แม้ฤดูกาลแห่งชีวิต จะโหดร้ายสักปานใด ความดีที่เราสร้างมาจะคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย และนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตตนเองได้
ฤดูกาลสร้างให้คนเข้มแข้งหรืออ่อนแอก็ได้ คนเข้มแข็งเท่านั้น จึงจะยืนหยัดอยู่ในโลกนี้ได้ ส่วนคนอ่อนแอ ไม่มีความอดทน ก็อยู่ในโลกนี้ แบบลำบาก ทุกข์ทรมาน หรือไม่ก็ทนไม่ได้ จะอยู่แบบไหน ขึ้นอยู่กับตัวเราเป็นตัวเลือก เลือกทางเดินถูกก็สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
ครึ่งหนึ่งของชีวิต ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง เราเสียโอกาสอะไรไปบ้าง ต้องทบทวนชีวิต เพื่อจะได้แก้ไขจุดบกพร่องหรือข้อด้อย ส่วนที่ดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่งขึ้นไป แม้จะผ่านคืนและวัน ผ่านฤดูกาล ตลอดครึ่งหนึ่งของชีวิต แล้วอีกครึ่งหนึ่ง จะวางแผนชีวิตอย่างไร เพื่อให้ตัวเรามีความสุขมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ต้องหันมาให้ความสนใจกับตัวเอง มองฤดูกาลแห่งธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง ตัวเรา ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามวัย อายุมากขึ้น ความแก่ชรา และความตายรออยู่ข้างหน้า
ฉะนั้น ฤดูกาลแห่งชีวิตครึ่งหลัง ควรจะหาที่พึ่งทางใจให้กับตนเอง ให้ใจได้พักพิง เพราะใจอ่อนล้ามานาน ควรจะให้ใจได้หยุดพักบ้าง คือให้ใจได้จดจ่อกับอารมณ์กรรมฐาน (งานทางใจ) ทำใจให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใจมีความเป็นหนึ่ง ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง ความสุขชนิดนี้พิเศษ ทำให้ใจที่อ่อนล้ามานานแสนนาน ใด้มีกำลังขึ้นมาอีก และทำให้เรามีที่พึ่งทางใจ ไม่เหงา ไม่เดียวดายอีกต่อไป
ฤดูกาลแห่งชีวิต..สอนให้จดจำ
ฤดูกาลแห่งธรรม..สอนให้ปล่อยวาง
เมื่อเกิดมา ดูโลก ที่แสนทุกข์
แม้มีสุข อยู่บ้าง ล่อให้หลง
จะทุกข์มาก ทุกข์น้อย ก็ต้องปลง
จงดำรง ในธรรม พระสัมมา
ชีวิตนี้ ต้องสู้ และอดทน
ต้องผ่านฝน ลมหนาว แดดร้อนเปรี้ยง
ธรรมชาติ สอนเรา ว่าไม่เที่ยง
ชีวิตเพียง เกิดแก่ และเจ็บตาย..
(โปรดติดตามตอนต่อไป)