หนังสือ "บันทึกการเดินทาง ณ เเดนพุทธภูมิ"
ภาพคณะจาริกบุญ ณ เเดนพุทธภูมิ
ครั้งแรกของหัวใจ และครั้งแรกของชีวิต ที่ได้เดินทางร่วมจาริกบุญ จารึกธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ตามรอยบาทพระศาสดา กราบนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ –ตรัสรู้-ปฐมเทศนา-ปรินิพพาน ด้วยพลังศรัทธาและความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้เขียนเอง ซึ่งได้ปณิธานตั้งใจไว้หลายปีก่อนว่า "สักวันหนึ่ง เราจะต้องไปอินเดีย" วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่าผ่านไป แหละวันที่รอคอยก็มาถึง แม้จังหวะหัวใจจะตื่นเต้นก็ตาม แต่หัวใจดวงนี้ เป็นหัวใจแห่งการเดินทาง พร้อมที่จะออกเดินทางได้ทุกวินาที
วันที่ 8 มีนาคม 2554 เวลาเย็น คณะพวกเราได้นัดรวมกันที่สนามบินชั้นขาออก พอเจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักกระเป๋าเดินทาง พร้อมทั้งตรวจสอบพาสพอร์ตเสร็จแล้ว จากนั้นคณะเราเดินเข้าไปข้างใน ผ่านด่านเครื่องสแกน แล้วไปนั่งรอที่ประตูขึ้นเครื่องสำหรับผู้โดยสาร จนได้เวลาออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสายการบินเจ็ตแอร์เวย์ (Jet Airways) มุ่งหน้าสู่อินเดีย เมื่อเครื่องบินแตะรันเวย์ ท่าอากาศยานนานาชาติดัม ดัม เมืองโกลกัตต้า (Kolkata) เดิมเมืองนี้ชื่อว่า "เมืองกัลกัตต้า" ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอินเดีย ก้าวแรกที่สัมผัสเมืองกัลกัตต้า กลิ่นแขก ล่องลอยมาตามลมกระทบที่จมูกทันที เหมือนจะบอกให้รู้ว่ามาถึงอินเดียแล้วนะ หลังผ่านการตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรแล้ว ก็ไปขึ้นรถโค้ชปรับอากาศชั้นหนึ่ง แต่ไม่มีห้องน้ำ ซึ่งจอดรอคณะทัวร์กรุ๊ปนี้อยู่ที่ลานจอดรถสนามบิน ซึ่งเป้าหมายเดินทางจะมุ่งหน้าสู่พุทธคยาเป็นจุดแรกของทริปนี้
ระหว่างการเดินทางต้องใช้เวลานานเป็นสิบชั่วโมง จากเมืองกัลกัตต้าสู่พุทธคยา เพราะระยะทางจะห่างไกลด้วย และรถใช้ความเร็วได้ประมาณ 40-50 กม./ชั่วโมง เนื่องจากผู้ขับต้องระวังคนบนถนนบ้าง วัวบ้าง เกวียนบ้าง โชเฟอร์บีบแตรรถสนั่นหวั่นไหวเป็นระยะๆเพื่อเบิกทาง เตือนให้ผู้คนระวัง อย่าประมาท นี่เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนอินเดีย
ขณะที่นั่งบนรถนั้น เป็นเวลาตอนกลางคืน ต้องนอนบนรถ จนถึงตอนเช้ารุ่งอรุณของวันใหม่ (9 มี.ค.2554) รถก็ยังวิ่งบนถนน ยังไม่ถึงปลายทางสักที ร่างกายเริ่มอ่อนเพลีย ด้วยการผักผ่อนไม่เต็มที่หลับๆตื่นๆ ได้เวลาทำกิจส่วนตัว รถก็จอดให้ลงอุจจาระ ปัสสาวะ ข้างถนน ซึ่งเป็นทุ่งโล่ง ไม่มีที่กำบัง ได้บรรยากาศไปอีกอย่าง ซึ่งวิถีชีวิตคนอินเดีย ตามชนบท จะดำเนินชีวิตแบบง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่าย ถ่ายง่าย นิยมกันข้างถนนโล่งๆ ไม่อายใคร และไม่สนใจใคร จะลงรถแต่ละครั้งต้องระวังเหยียบขี้แขก ต้องมีสติตลอดเวลาในการก้าวย่าง เมื่อมาถึงอินเดีย จึงเข้าสัจธรรมของชีวิตมากยิ่งขึ้น และต้องใช้สติมากขึ้น จะกินอะไร ก็ต้องระวังมากขึ้น กลัวท้องเสีย เดี๋ยวต้องเข้าห้องน้ำตามทุ่งหญ้า ทุ่งนา ซึ่งมีท้องฟ้าเป็นเครื่องกำบัง
การเดินทางสู่อินเดียครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่างในการดำเนินชีวิตของคนอินเดีย คือ คนอินเดียเป็นคนเรียบง่าย ใช้ชีวิตง่ายๆ ดำเนินเศรษฐกิจพอเพียง พอใจในสิ่งที่ตนเองมี พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ มองดูแล้วคงจะมีความสุข อยากกิน-กิน อยากนอน-นอน อยากถ่าย-ถ่าย ตรงนี้แหละทำให้พูดได้เต็มปากว่า "ออริจินอลของมนุษย์"
จะอย่างไรก็ตาม สังคมอินเดีย เป็นสังคมที่ทำให้ผู้คนที่พบเห็นได้สัจธรรมในชีวิต หลายคนจึงเดินทางมาอินเดียบ่อยๆ เพื่อจะเข้าใจในหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ เมื่อคณะทัวร์มาถึงพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหลียวมองเห็นมหาเจดีย์สูงเด่นตระหง่านตา ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม
เวลาประมาณ 10.00 น. เดินทางถึงพุทธคยา พอลงจากรถเท่านั่นแหละ คนขอทานไม่รู้มาจากไหนกัน วิ่งมาขอตังค์ เราไปไหนก็เดินตาม จะให้ก็ไม่กล้าให้ เพราะถ้าให้คนหนึ่ง คนอื่นก็ต้องรุมมาแย่งขอ ถ้าไม่ให้ทุกคน ปัญหาจะตามมาทันที ฉะนั้นต้องทำใจให้เข้มแข็ง จึงตัดสินใจไม่ให้ดีกว่า ถึงแม้หัวใจ จะอดสงสารไม่ได้ แต่ก็ต้องทำใจ
ถนนแต่ละสายเกลื่อนไปด้วยคนขอทาน โดยปกติถ้ามีผู้ขอ คนอีกส่วนหนึ่งก็จะดำเนินวิถีชีวิต "ผู้ให้" มันเป็นการดำรงวิถีชีวิต เพื่อสร้างความสมดุลให้กับสังคมอินเดีย มีคนให้ข้อคิดว่า "ถ้าไม่มีขอทานแล้ว อีกคนพันกว่าล้านของอินเดีย จะสืบสานวัฒนธรรมวรรณะให้คงอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างไร"
คณะทัวร์พวกเราเดินทางสู่วัดป่าพุทธคยาด้วยเท้า ซึ่งรถบัสไม่สามารถวิ่งเข้าวัดได้ เพราะถนนหน้าวัดแคบและใกล้บริเวณมหาโพธิเจดีย์ วัดป่าพุทธคยาเป็นวัดไทยที่ใหญ่ มีอุโบสถสวยงาม สามารถมองจากวัดไปเห็นยอดมหาโพธิเจดีย์ได้ พอดีได้เวลาฉันเพล ผู้จัดทัวร์ พร้อมทั้งแม่ชีในวัด ได้เตรียมอาหารถวาย และมีเมนูพิเศษคือข้าวมธุปายาส อาตมาได้ลองชิมดู รสชาดแปลกดี เมื่อฉันเพลเสร็จแล้ว ก็ลากกระเป๋าเดินทางไปที่พักซึ่งเป็นอาคารหลังใหญ่ ซึ่งทางวัดสร้างไว้ต้อนรับคณะทัวร์ที่แวะมาพักอาศัยเป็นประจำเรื่อยมา
ช่วงเวลาเย็น กลุ่มเพื่อนสหธรรมิกที่มาร่วมกัน ชวนกันไปเดินดูบริเวณมหาโพธิเจดีย์ ภายในเจดีย์ มีพระพุทธเมตตา เป็นพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลมากราบไหว้เป็นประจำ ด้านหลังเจดีย์ มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ พวกเราเดินเวียนรอบเจดีย์สามรอบ แล้วไปสวดมนต์ นั่งสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งบริเวณนี้มีคนจำนวนมาก และมาจากหลายประเทศ เช่น ไทย ศรีลังกา เขมร พม่า จีน ธิเบต ญี่ปุ่น เป็นต้น นั่งอยู่รอบบริเวณเจดีย์ บางกลุ่มก็นั่งเก็บใบโพธิ์เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ขณะที่นั่งสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้หวนระลึกถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าตั้งสัจอธิษฐานว่า "แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที หากเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้" สุดท้ายแสงสว่างแห่งปัญญาก็เกิดขึ้นแก่พระองค์ตามลำดับ หรือที่เรียกกันว่า "ญาณ" คือความรู้แจ้งแทงตลอด
- ญาณที่ 1 เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ในอดีต คือระลึกชาติได้
- ญาณที่ 2 เรียกว่า จุตูปปาทญาณ ความรู้ในการจุติและอุบัติของสัตว์โลก คือตาทิพย์
- ญาณที่ 3 เรียกว่า อาสวักขยญาณ ความรู้ในการขจัดอาสวะกิเลสให้สิ้น
เมื่อญาณทั้ง 3 เกิดขึ้นตามลำดับ ทำให้พระองค์ได้บรรลุอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งต่อมาวันนี้ชาวพุทธเรียกว่า "วันวิสาขะ"
ต่อจากนั้น ก็ได้เดินดูรอบๆบริเวณเจดีย์ เห็นกลุ่มพระธิเบตกลุ่มใหญ่กำลังสวดมนต์ ซึ่งพระธิเบตจะศรัทธามาก เวลากราบจะกราบลงทั้งตัว เหมือนนอนก้มกราบ ขึ้นๆลงๆ ซึ่งเรียกว่า "อัฏฐางคประดิษฐ์" คือ หน้าผาก 1 ฝ่ามือทั้ง 2 หน้าอก 1 เข่าทั้ง 2 และปลายเท้าทั้ง 2
เมื่อความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามา จึงหันหน้ามุ่งสู่วัดป่าพุทธคยา เพื่อพักผ่อนหลับนอนในค่ำคืนที่เงียบสงัด บางรูปก็มาปักกลดที่บริเวณต้นโพธิ์ ทำความเพียร สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งคืน
พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้
พุทธคยา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ใกล้ฝั่งเม่น้ำเนรัญชรา เมืองคยา รัฐพิหาร ตั้งแต่เดิมเรียกว่า คยา หรือคยาสีสะ
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นต้นที่ 4 นับจากต้นที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ปลูกในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2423 เพราะต้นเดิมเก่าแก่ล้มตาย และไม่ใช่เก่าแก่ทำลายลงตามธรรมดา หากถูกภัยจากน้ำมือของคนที่ไม่หวังดี ต้องการทำลายให้พินาศลงไปด้วย
จากบันทึกของท่านสมณฟาเหียน ซึ่งเคยเดินทางมาอินเดีย พ.ศ. 942 เล่าไว้ว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงศรัทธา นับถือ หวงแหนต้นศรีมหาโพธิ์อย่างยิ่ง จนลืมพระชายา ต่อมาพระชายทรงโกรธและไม่พอใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุที่ไม่สนใจพระนาง ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศก เสด็จไปประกอบราชกิจที่เมืองอื่น จึงได้โอกาสที่เหมาะ แล้วจ้างคนไปตัดต้นศรีมหาโพธิ์ออกเสีย
เมื่อพระเจ้าอโศกเสด็จกลับมาที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ไม่เห็นต้นโพธิ์แล้ว ทรงเสียพระทัยมาก แล้วอธิษฐานว่า "เราจะไม่ยอมลุกขึ้น จนกว่าต้นศรีมหาโพธิ์จะงอกขึ้นมาใหม่" คนทั้งหลายได้นำน้ำนมโคสดมารดที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ต่อมาต้นศรีมหาโพธิ์ ก็งอกขึ้นใหม่
ระยะต่อมา สมัยที่กษัตริย์เบงกอล พระนามว่า สะสังกะ เป็นชาวฮินดู ด้วยความอิจฉาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง จึงได้สั่งให้ตัดโค่นต้นศรีมหาโพธิ์นี้เสีย
ภายหลัง สมัยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์ราชวงศ์เมารยะ ทรงปลูกขึ้นแทนต้นที่สอง และเจริญเติบโตอีกครั้งหนึ่ง
เมื่ออินเดียตกอยู่ในการปกครองของอังกฤษ อังกฤษสั่งให้มีการซ่อมวิหารและสถานที่ต่างๆ ระหว่างทำการซ่อมแซมอยู่นั้น ต้นศรีมหาโพธิ์ได้หักโค่นลงมาอีกครั้ง นายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม จึงขุดเอาต้นเล็กๆที่งอกขึ้นอยู่ใกล้เคียงกันมาปลูกในที่ต้นเดิม จนกระทั่งเติบโต เจริญงอกงามมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนพระแท่นวัชรอาสน์ หรือรัตนบัลลังก์ ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นหินแท่นหนึ่งวางกับพื้นมีการสลักลวดลาย อยู่ระหว่างต้นศรีมหาโพธิ์กับมหาเจดีย์พุทธคยา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างแท่นวัชรอาสน์นี้ไว้เป็นอนุสรณ์สืบแทนฟ่อนหญ้าคา 8 กำ ที่โสตถิยะถวายเป็นที่ประทับนั่งใต้ต้นมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์นี้เคยถูกทำลายตอนต้นศตวรรษที่ 13 นายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมได้บูรณะให้ดีดังเดิม
พระเจดีย์เหลี่ยมหรือมหาโพธิวิหาร
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญสูงสุดในพุทธคยา คือ มหาโพธิวิหาร ถ้ามองดูไกลๆประหนึ่งว่าเป็นเจดีย์มหึมา แต่เมื่อเข้าไปดูภายในแล้ว จะรู้ว่าเป็นวิหาร มีพระพุทธรูปอยู่ ถ้าจะเรียกว่าวิหารทรงเจดีย์ก็น่าจะได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาโพธิเจดีย์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต สูงเด่นตระหง่าน ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกแวะมากราบไหว้เป็นประจำ
รุ่งอรุณวันใหม่ (วันที่ 10 มีนาคม 2554) คณะจาริกบุญนัดรวมพลกันที่ศาลา ซึ่งแต่ละท่านก็ลากกระเป๋าเดินทางส่วนตัวมารอกันที่ศาลา เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเดินต่อไปสู่สถานที่อื่น ได้เวลาอาหารเช้า นักแสวงบุญทั้งหลายก็ร่วมกันรับประทานอาหาร เมื่อเสร็จแล้ว ก็ยกกระเป๋าเดินทางขึ้นรถคันเล็ก เพื่อจะลำเลียงไปสู่รถบัส ซึ่งจอดรออยู่ถนนใหญ่
คณะจาริกบุญก็เดินทางมุ่งไปสู่รถบัส ผ่านมหาโพธิเจดีย์ และแวะซื้อของที่ระลึก ครั้นซื้อของเสร็จแล้ว ก็ขึ้นรถบัส ออกเดินทางมุ่งสู่บ้านนางสุชาดา มัคคุเทศก์ได้อธิบายประวัติความเป็นมาของนางสุชาดา รถวิ่งผ่านแม่น้ำเนรัญชราซึ่งเหือดแห้งเห็นแต่ทราย จนมาถึงสถูปซึ่งเป็นหมู่บ้านนางสุชาดา คณะทัวร์พวกเราก็ยืนถ่ายภาพหมู่ และเดินวนรอบสถูปแห่งนี้
สถูปบริเวณบ้านนางสุชาดา
ประวัตินางสุชาดาโดยสังเขป
นางเป็นธิดาของเสนียกุฏุมพี ในหมู้บ้านเสนานิคม แห่งตำบนอุรุเวลเสนานิคมา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาว นางได้ทำพิธีบวงสวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ
1.ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพยสมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
2.ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ครั้นกาลต่อมา ความปรารถาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า " ยสะ " นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปยาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น
ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศปราจีน (ตะวันออก) มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงรีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน
ฝ่ายนางสุชาดาจึงรีบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในวันนั้น
หลังจากนั้นพระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือสุขอันเกิดจากการตรัสรู้ บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
ภายหลังต่อมา นางสุชาดา ได้ฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน เข้าถึงพระรัตนตรัย และได้ตำแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อน (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)
จากจุดบ้านของนางสุชาดานี้ มองเห็นภูเขาดงคสิริ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ได้ไป แต่ก็พอรู้อยู่บ้างจากการอ่านหนังสือพุทธประวัติ ภูเขาดงคสิริ คือสถานที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ก่อนที่จะมาต้นโพธิ์ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (ทรมานตนอย่างอุกฤษฎ์) ใช้วิธีขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น จนเหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง และอีกวิธีหนึ่งคือกลั้นลมหายใจเข้าออก ต่อมาพระองค์อดฉันอาหารจนพระวรกายซูบผอม แต่ไม่สามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้ เมื่อได้ทรงสดับเสียงพิณที่เทวดาดีดบรรเลง จึงได้สติปัญญาขึ้นมาว่าสายพิณหย่อนนัก ก็ไม่ไพเราะ ตึงนัก ก็ขาด ปานกลาง จึงไพเราะ พระองค์กลับมาปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง เสวยอาหาร บำเพ็ญทางจิต จนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ต้นศรีมหาโพธิ์
ต่อจากนั้น คณทัวร์ไปเยี่ยมชมวัดนานาชาติ และวัดญี่ปุ่น ซึ่งมีพุทธรูปองค์ใหญ่ สร้างด้วยหินทรายแกะสลักเป็นชิ้นๆ มองดูแล้วน่าเกรงขาม ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม โดดเด่น ซึ่งองค์นี้จำลองมาจากพระพุทธไดบุสซุในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อคณะทัวร์ถ่ายภาพหมู่เสร็จแล้ว ก็เดินทางไปขึ้นรถที่จอดรออยู่ เมื่อรถเคลื่อนออก มัคคุเทศก์เริ่มพูดจุดหมายปลายทางที่รถจะไป พร้อมทั้งมีการสวดมนต์เช้าในรถบัส รถวิ่งไปเรื่อยๆจนได้เวลาฉันเพล หัวหน้าผู้จัดทัวร์ ก็นำอาหารที่เตรียมไว้แล้ว มาแจกคณะลูกทัวร์ซึ่งนั่งอยู่บนรถ
การฉันอาหารเพล ไม่สะดวกมากนัก เพราะฉันขณะที่รถกำลังวิ่ง ตกหลุมบ้าง กระแทกถนนที่ขรุขระบ้าง จะฉันอาหารต้องพิจารณาว่า อาหารแบบนี้ ถูกกับร่างกายเราหรือเปล่า หรือฉันอาหารแบบนี้เข้าไปแล้ว จะทำให้ท้องเสียหรือเปล่า ถ้าปวดท้องหนักขึ้นเมื่อไหร่ เราเป็นทุกข์แน่ เพราะไม่มีห้องน้ำให้เข้า บางคนต้องอดกลั้น จนท้องผูกก็มี ชีวิตแสนลำบากในการเดินทางในประเทศอินเดีย แต่ผู้คนก็ยังหลงไหล อยากจะมาสัมผัสดินแดนพุทธภูมิด้วยตนเอง
เวลาบ่ายคล้อย แดดร้อนจ้า มองดูข้างทางทั้งสอง มีแต่ทุ่งนาเต็มไปด้วยข้าวสาลีกำลังเขียวขจี รถวิ่งไปสู่เมืองพาราณสี ระยะทางจากพุทธคยาสู่เมืองพาราณสีไกลพอสมควร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง ร่างกายก็เริ่มอ่อนล้า แต่ต้องทำใจ
ครั้นเข้าสู่เขตเมืองพาราณสี ซึ่งแออัดไปด้วยผู้คน พร้อมทั้งวัวเดินตามท้องถนนขวักไขว่ไปมา รถก็วิ่งช้าลงเพราะเป็นเขตชุมชน พอถึงจุดหมายปลายทาง รถก็จอด คณะทัวร์พากันลงจากรถ เดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์สารนาถ ครั้นแวะชมเสร็จแล้ว คณะทัวร์มุ่งไปธัมเมกขสถูป ซึ่งสถานที่แห่งนี้ดูยังมีมนต์ขลัง มีความเก่าแก่ตามกาลเวลา เป็นโบราณสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ธัมเมกขสถูป
ธัมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นการแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือพระโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ สถานที่แห่งนี้ สร้างราว ค.ศ 500 จากหลักฐานที่ปรากฏ มีอิฐข้างในสถูปเป็นของยุคเมารยัน จึงสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และระยะต่อมาก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จะอย่างไรก็ตาม สถานที่แห่งนี้ เดิมชื่อว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรก ณ ที่ตรงนี้ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทำให้พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา วันนั้นจึงเป็นวันสำคัญที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลก
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีเนื้อหาปฏิเสธที่สุด 2 อย่าง
1. กามสุขัลลิกานุโยค คือ หมกมุ่นกับความสุขสบายทางกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
2. อัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์
และพระองค์ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
ทางสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
• ปัญญาเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)
• ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
• เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)
• การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)
• เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ)
• พยายามชอบ (สัมมาวายามะ)
• ระลึกชอบ (สัมมาสติ)
• ตั้งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ)
และพระองค์ได้ตรัสอริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่
• ทุกข์ คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย
• สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
• นิโรธ คือ ความดับทุกข์
• มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์
คณะทัวร์เราพากันไหว้พระ สวดมนต์ นั่งเจริญภาวนา ที่ธัมเมกขสถูป พอเสร็จแล้วเดินเวียนรอบสถูป 3 รอบ ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ณ บริเวณแห่งนี้ ยังมีเด็กขอทานกลุ่มหนึ่ง หน้าตามอมแมม เดินตามขอตังค์ มีเด็กคนหนึ่งเดินตามไม่หยุด เมื่อเดินออกห่างจากกลุ่มขอทาน อดสงสารไม่ได้ ก็เลยแอบให้เงินแก่เด็กคนนั้น ครั้นเด็กได้เงินแล้ว ก็ไม่เดินตามอีก
ใกล้ค่ำยามเย็น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดงคต เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่แห่งนี้ จะปิดประตู คณะทัวร์ก็รีบเดินออกจากบริเวณโบราณสถาน
เมื่อคณะทัวร์ออกจากธัมเมกขสถูปแล้ว ก็แวะดูร้านขายของที่ระลึก มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ลูกประคำ และอื่นๆ แม้ความมืดเข้ามาแทนที่ แต่พวกเราก็ยังเดินดูร้านขายของที่ระลึกไปเรื่อยๆ จนถึงที่พัก คือวัดจีนไตรรัตนาราม ดั้งเดิมวัดแห่งนี้ชาวจีนเป็นคนสร้าง ต่อมายกให้พระไทยมาดูแลแทน
ครั้นถึงวัด แต่ละท่านรีบทำภารกิจส่วนตัว ครั้นทำกิจเสร็จแล้ว ก็นัดรวมกันถวายต้นผ้าป่า ต่อมาชวนกันไปซื้อผ้ากาสีในตัวเมือง ซึ่งคนจัดทัวร์บอกว่าร้านนี้ราคาถูก ไปถึงร้านจริงๆราคาแพง แต่ก็ซื้อ เพราะอุตส่าห์ไปตั้งไกล พอซื้อผ้าเสร็จ รีบกลับวัดนอนพักผ่อน
วันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลาตีห้า ตื่นจากที่นอน เตรียมตัวไปล่องเรือในแม่น้ำคงคา ได้เวลาเดินทางออกจากวัดจีนไตรรัตนาราม มุ่งหน้าสู่แม่น้ำคงคา ระยะทางไม่ไกล แต่แออัดไปด้วยผู้คน พอไปถึงที่จอดรถ พวกเราลงจากรถเดินเท้าไปท่าเรือ กลิ่นไม่โสภาบนถนนที่คาคั่งไปด้วยผู้คน วัวบ้าง ขี้วัวบ้าง น้ำครำบ้าง เรี่ยราดไปทั่ว กลิ่นเหล่านี้ฟุ้งมากระทบจมูก ต้องรีบเอามือจับชายจีวรมาปิดจมูกเดินทาง ยิ่งเราเป็นภูมิแพ้ ได้กลิ่นเหล่านี้ จะทำให้ปวดหัวทันที
พอเดินไปถึงท่าลงเรือแม่น้ำคงคา อากาศโปร่งใส ในยามเช้าตรู่ มองดูรอบบริเวณคับคั่งไปด้วยผู้ที่ศรัทธาต่อแม่น้ำคงคาและนักท่องเที่ยว เพราะสถานที่แห่งนี้ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงมีพิธีกรรมอาบน้ำชำระล้างบาป และพวกฮินดูจะทำพิธีบูชาในทุกๆท่าน้ำที่จะลงอาบ บางกลุ่มบูชาสุริยเทพ (ดวงอาทิตย์) ที่โผล่ขึ้นในยามเช้า ความหลากหลายทางความเชื่อ จึงมีมาก ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์คงคาแห่งนี้ อยู่คู่เมืองพาราณสีเป็นเวลายาวนานมากกว่า 4,000 ปี ในแม่น้ำคงคา มีหลายท่า ที่สร้างด้วยหินทราย เป็นท่าสำหรับลงอาบน้ำล้างบาป และเผาศพ เมื่อคนตาย จะนิยมนำศพมาเผาริมฝั่งแม่น้ำคงคา พร้อมทั้งเกลี่ยเถ้าถ่านและกระดูกลงในแม่น้ำ บางจุดบางท่ามีศพมาเผาไม่เว้นแต่ละวัน ไฟเชิงตะกอนไม่มีวันดับเป็นเวลากว่า 4,000 ปี ศพแล้วศพเล่าเป็นวัฏจักรหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างนี้
ศพบางประเภท จะไม่เผา เช่น ศพสาธุหรือนักบวชในศาสนาฮินดู ศพเด็ก ศพหญิงพรหมจารี และซากวัว ทั้ง 4 ประเภทนี้ ครั้นตายแล้ว จะนำไปโยนลงในแม่น้ำคงคาทันที เพราะถือว่าเป็นผู้มีวิญญาณบริสุทธิ์
คณะทัวร์ล่องเรือไปเรื่อยๆเพื่อทัศนาดูสิ่งต่างๆ บนฝั่งคงคามหานที ดวงอาทิตย์กำลังส่องแสงในยามเช้าตรู่ บรรยากาศกำลังสวยงาม เรือนักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก ขวักไขว่วนไปวนมาย่านท่าน้ำแห่งนี้
ครั้นล่องเรือแม่น้ำคงคาเสร็จแล้ว ก็พากันเดินกลับมุ่งหน้าสู่รถ ระหว่างทางเจอคนขอทานจำนวนมาก มีทั้งผู้ใหญ่ และเด็กนั่งเรียงเป็นแถวยาว บางคนวิ่งตามขอตังค์ แต่ไม่ได้ให้ บางครั้งรู้สึกรำคาญคนขอทานเหล่านี้
บางคราว ก็หดหู่ใจ สงสาร ได้แต่คิดอยู่ในใจคนเดียวว่า "บางที ในอดีตชาติ เราอาจจะเกิดเป็นคนขอทานเช่นนี้ เพราะชีวิตมีเหตุมีปัจจัย มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีกรรมเป็นที่อาศัย"
สำนักพรรคยาจก คนขอทาน
ในขณะที่นั่งบนรถ ทำให้เกิดความคิดหลายอย่าง บางครั้งก็คิดเกี่ยวกับความเชื่อของชาวฮินดูว่า ถ้าลงอาบน้ำคงคา สามารถล้างบาปได้ แต่ในทางพระพุทธศาสนา ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ และเปรียบเทียบให้ฟังว่า ถ้าแม่น้ำคงคาสามารถล้างบาปได้จริง สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในแม่น้ำคงคา เช่น ปลา หอย กุ้ง เป็นต้น คงบริสุทธิ์ หมดกรรม ไม่มีบาป แต่เพราะสัตว์เหล่านี้ มีกรรมเป็นของๆตน จึงต้องรับผลแห่งกรรมนั้น
ขณะที่นั่งคิด รถวิ่งมาถึงวัด ต่อจากนั้น พวกเราก็ร่วมกันรับประทานอาหาร เตรียมตัวเพื่อจะเดินทางสู่เมืองสาวัตถี ดินแดนที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด บ่ายโมง พวกเราเริ่มออกเดินทาง จนย่างเข้าสู่ความมืดปกคลุม ระหว่างเดินทางเข้าสู่เขตเมืองสาวัตถี มีกองเกวียนลากสิ่งของไปค้าขาย รถต้องชะลอความเร็วลงเป็นระยะๆ ทุกวันนี้เมืองสาวัตถี ยังใช้เกวียนบรรทุกสิ่งของ ทำให้เกิดความคิดขึ้นใจว่า "โอหนอ เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้า จึงทรงแสดงธรรมอุปมาเหมือนล้อเกวียนบ้าง โคบ้าง เพราะจะทำให้คนท้องถิ่นฟังเข้าใจได้ง่าย"
เวลาประมาณ สองทุ่ม การเดินทางก็มาถึงวัดไทยเชตวันมหาวิหาร วัดแห่งนี้เพิ่งเริ่มสร้างใหม่ พอเสร็จภารกิจส่วนตัวแล้ว ก็รวมตัวกันถวายต้นผ้าป่า เพื่อบำรุงวัด และเพื่อใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ บริเวณวัดเป็นพื้นที่ราบเรียบ อาคารที่พักสะดวก มีหลายห้องนอน แต่ละห้องนอน บรรจุได้ 5-6 คน
อากาศที่นี่ หนาวเย็น ต้องสวมหมวกไหมพรม การเดินทางไกลเหน็ดหนื่อยมาก จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และหลับไปในยามราตรีที่เงียบสงัด
พอรุ่งอรุณยามเช้า (12 มี.ค. 2554) ได้เวลาร่วมกันรับประทานอาหาร บางท่านก็ทานกาแฟ กับขนม บางท่านดื่มชาร้อนๆ เมื่อเสร็จแล้ว ก็เดินสำรวจดูบริเวณวัด ซึ่งวัดนี้ ยังมีโครงการสร้างอาคารหลังใหญ่ และวัดนี้ใกล้กับสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา คือสถูปยมกปาฏิหาริย์ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหารย์แล้ว เสด็จขึ้นไปจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ เพื่อโปรดพุทธมารดา
พวกเราจึงเดินไปดูสถานที่แห่งนี้ก่อน ปีนขึ้นไปจนถึงยอดสถูปเจดีย์ เดินวนรอบดู มองไปทิศไหน ก็เป็นพื้นที่ราบ เป็นทุ่งนา เดินถ่ายรูปภาพในมุมต่างๆของสถูป และเพื่อรอคอยคณะรถทัวร์ที่จะมารับ เมื่อคณะทัวร์พวกเรามาถึง กลุ่มคณะที่มาที่หลัง ก็เดินดูรอบๆสถูป พอได้เวลา ก็เดินไปขึ้นรถและมุ่งหน้าสู่วัดเชตวัน ซึ่งเป็นอารามที่ใหญ่โต
ทันทีที่รถจอด ผู้แสวงบุญทั้งหลายที่นั่งบนรถทยอยเดินลงจากรถ เดินเข้าสู่เขตบริเวณวัด มัคคุเทศก์พูดบรรยายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัด ซึ่งอารามแห่งนี้ มีอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้ใจบุญเป็นคนสร้างถวาย ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ พร้อมกับพระอรหันต์จำนวนมาก พักอาศัยอยู่ที่แห่งนี้
วัดพระเชตวัน เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นานที่สุด 19 พรรษา ถ้านับรวมที่จำพรรษาวัดบุพพารามของนางวิสาขาอีก 6 พรรษา รวมแล้วพระองค์ประทับอยู่เมืองสาวัตถี 25 พรรษา พระวิหารเชตวันนี้ มีพระสูตร เกิดขึ้นหลายพระสูตร และพระวินัยเกิดขึ้นหลายสิกขาบท
คณะของพวกเรา เดินทัศนาไปเรื่อยๆ จนถึงพระคันธกุฎี และได้นั่งลงทำวัตรเช้า สวดมนต์ และนั่งสมาธิเจริญภาวนา น้อมจิตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้นได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และเดินชมสถานที่สำคัญอื่นๆ เช่น ธรรมสภา สังฆสภา และกุฏิของเหล่าพระอรหันต์ กระทั่งต้นอานันทโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นโพธิ์เก่าแก่ ที่พระอานนทเถระ ให้พระโมคคัลลานะเหาะไปเอาหน่อโพธิ์ที่พุทธคยามาปลูกไว้ ณ วัดเชตวันแห่งนี้
ต่อจากนั้น เดินทางไปสู่บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นเนินก้อนอิฐ มีซากปรักหักพัง ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ยังหลงเหลือให้ทัศนา
บ้านท่านองคุลิมาล ตั้งอยู่ไม่ไกล ประมาณ 100 เมตร ตั้งอยู่บนละฟากถนน ซึ่งเป็นเนินดินฐานก่ออิฐเป็นรูปปราสาท ยังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซม การเดินดูไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ได้เห็นก็เป็นบุญตา
เมื่อเดินดูรอบบริเวณเสร็จแล้ว ก็ขึ้นรถเดินทางสู่ลุมพีนี ประเทศเนปาล ระหว่างทางที่จะเข้าเขตประเทศเนปาล ได้แวะเยี่ยมชมวัดไทยนวราชรัตนาราม หรือที่คนทั่วไปพูดติดปากว่า วัด 960 ซึ่งวัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ เป็นวัดที่มีห้องน้ำสะอาดที่สุด ธรรมชาติแวดล้อมจัดได้ลงตัว ความเป็นระเบียบ ความสะอาด มองดูแล้วสดชื่นใจ ทำให้เกิดความคิดว่าผู้บริหารวัด คงมีวิสัยทัศน์ หัวพัฒนา แม้พื้นที่วัดจะไม่ใหญ่มากนัก แต่จัดสรรได้ลงตัวมาก เดินดูรอบๆบริเวณแล้วประทับใจทุกขั้นตอน
คณะทัวร์คนไทยโดยส่วนใหญ่ ที่จะเดินทางเข้าเนปาล ต้องแวะพักที่นี่ก่อน เมื่อคณะพวกเราแวะพักเข้าห้องน้ำ ดื่มชา กาแฟ ตะวันคล้อย ได้เดินทางเข้าเนปาล ระหว่างพรมแดนต้องนำหนังสือเดินทาง (Passport) ไปประทับตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เมื่อผ่านด่านเล้ว ได้แวะกราบไหว้เจดีย์ลุมพีนีวัน ซึ่งสถานแห่งนี้ เป็นที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลักฐานทางโบราณคดี หรือโบราณวัตถุ ยังปรากฏให้เห็น ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ปักเสาหินไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ แห่งความทรงจำ และเพื่อแสดงพลังศรัทธายิ่งต่อพระพุทธศาสนา
เมื่อคณะทัวร์เรา ได้ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ ต่อจากนั้นได้เช่ารถสามล้อปั่น เพื่อจะเข้าสู่บริเวณลุมพินีวัน ครั้นถึงแล้ว มองดูรอบๆโบราณสถาน มีก้อนอิฐเรียงเป็นจุดๆ และมีมายาเทวีวิหาร ปลายยอดเป็นเจดีย์ ครอบตรงที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เมื่อเข้าไปภายในวิหาร มีคนจำนวนมากพอสมควร พากันเดินสวดมนต์เวียนรอบ ซึ่งกลุ่มพวกเรา ก็เดินเวียนรอบเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น ออกเดินชมบริเวณภายนอก ที่บริเวณเสาอโศก และสระโบกขรณี
มายาเทวีวิหาร ณ ลุมพีนีวัน
ผู้เขียนนึกถึงพุทธประวัติที่เคยเล่าเรียนมาว่า การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีวัน ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ วันศุกร์ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ทันทีที่ประสูติ พระโอรสก็สามารถเดินได้ 7 ก้าว ในก้าวสุดท้ายทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐหมสฺมิ
อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ
(เเปลว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ต่อไปไม่มี) นี่เป็นความมหัศจรรย์พิเศษอย่างหนึ่งของพระโพธิสัตว์
ซากอิฐเก่าๆภายในมายาเทวีวิหาร
ต่อมา คณะเรา ได้รวมตัวกันใกล้เสาอโศก ทำวัตรเย็น สวดมนต์ เจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ขณะนั้นความมืดเริ่มเข้ามาแทนที่ จึงพากันกลับสู่รถบัส ระหว่างกลับก็แวะซื้อของที่ระลึก ตามถนนที่เดินออกมา เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว รถวิ่งสู่วัดไทยลุมพินี ครั้นถึงวัดไทยลุมพินี ได้แวะดื่มน้ำชา กาแฟ และถวายต้นผ้าป่า
ทีแรกว่าจะนอนที่วัดไทยลุมพินี แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเยอะ สถานที่พักเต็ม พวกเราจึงมุ่งหน้าไปวัดเกาหลี เพราะที่พักยังว่าง มีหลายห้องนอน สะดวกสบายในการหลับนอน วัดเกาหลีใหญ่โต มีวิหารสวยงาม
วันที่ 13 มีนาคม 2554 ตื่นจากภวังค์ เวลาประมาณตีสี่ครึ่ง เพราะคณะเราจะต้องออกจากเนปาลไปฉันเช้าที่วัดไทยนวราชรัตนาราม ทุกคนต้องรีบลุกจากที่นอน เพราะมีคนมาเดินเคาะห้องให้สัญญาณว่าได้เวลาจะเดินทางแล้ว
ความมืดยังไม่จาง รถได้เคลื่อนออกจากวัดเกาหลี วิ่งไปตามถนน ไม่ค่อยเจอหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของผู้คน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าเขา ทันทีที่จะเข้าเขตอินเดีย หัวหน้าจัดทัวร์ ต้องนำพาสพอร์ตของทุกคนที่อยู่บนรถไปประทับตราอีกครั้ง รถจอดตรงนี้นานพอสมควร เมื่อประทับตราพาสพอร์ตเสร็จหมดแล้ว รถเคลื่อนเข้าสู่เขตอินเดีย จนถึงวัดไทยนวราชรัตนาราม พอถึงวัดนี้โล่งอกทุกที เพราะห้องน้ำสะอาด จะทำภารกิจส่วนตัวสะดวกอย่างยิ่ง
จากนั้น ร่วมกันรับประทานอาหารเช้า พอเสร็จภัตตาหารแล้ว ได้ทำบุญบำรุงวัดถวายจตุปัจจัย ทุกคนเกิดปีติโสมนัส ยินดีในการให้ทาน เมื่อได้เวลาเดินทาง ทุกคนเดินไปสู่รถบัสที่จอดรอหน้าวัด
ต่อจากนั้น รถวิ่งมุ่งหน้าสู่เมืองกุสินารา ในวันนี้เป้าหมายพักผ่อนหลับนอน ณ วัดกุสาวดี และวัดแห่งนี้ กำลังก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยหลังใหญ่ พื้นที่วัดไม่ใหญ่มาก มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวคือเจ้าอาวาส ท่านเป็นคนมีอัธยาศัยดี ครั้นคณะทัวร์พวกเราถึงวัด ท่านก็ต้อนรับเป็นอย่างดี พูดคุยกันเอง สนิทกับคณะทัวร์เป็นอย่างดี
สถานที่ปรินิพพาน
แต่เมืองนี้มีอีกวัดหนึ่ง คือวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดกุสาวดีมากนัก โดยปกติ วัดแห่งนี้ มีชื่อเสียง คณะทัวร์จะแวะมาพักจนเต็ม คณะของพวกเราไม่ได้แวะชมวัดแห่งนี้ เป็นการพลาดโอกาสอีกครั้ง ในการที่จะได้เห็นวัดไทยในอินเดีย ที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม มีเจดีย์ใหญ่
วันนี้ มาถึงวัดกุสาวดีแดดยังร้อน ต้องหลบเข้าในห้องพัก เวลาเย็น แสงสุรีย์อ่อนๆ คณะพวกเรา จึงเดินทางไปทำวัตรเย็น สวดมนต์ เจริญภาวนา ที่สาลวโนทยาน สถานที่ดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งสักการะพระพุทธรูปปางปรินิพพาน
ณ สถานที่แห่งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้หวนระลึกถึงเรื่องราวต่างๆมากมายในมหาปรินิพพานสูตร อาทิเช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"
วิธีปฏิบัติในสตรีและพระพุทธสรีระ
พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติในสตรี ( มาตุคาม ) ตามที่พระอานนท์กราบทูลถามว่า ไม่ควรมอง ถ้าจะเป็นจะมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ แล้วทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ เช่นเดียวกับพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ในเมื่อพระอานนท์กราบทูลถาม โดยทรงแสดงว่า ให้ห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี รวม 500 ชั้น แล้วใส่ในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็ก ทำจิตกาธานด้วยของหอมแล้ว ทำการเผา สร้างสถูปไส่ในทางสี่แพร่ง
สถานที่ตรงนี้ มีชาวพุทธแวะมาสักการะจำนวนมาก ปัจจุบันมีการสร้างวิหารครอบพระพุทธรูปองค์นี้ จึงเรียกว่ามหาปรินิพพานวิหาร ซึ่งพระพุทธรูปปางปรินิพพานนี้ สร้างในราวปี พ.ศ. 600
พระวิทยากร พูดบรรยายให้ฟังประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ แต่ละท่านเดินชมรอบบริเวณ ถ่ายรูปเก็บไว้แทนความจำ เผื่อระลึกถึงที่ตรงนี้ ก็จะได้หยิบรูปภาพขึ้นมาดู แต่ละท่านก็มีกล้องส่วนตัวกันทั้งนั้น กล้องเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ถ่ายแชะๆเรื่อยไปตามมุมที่ตัวเองต้องการภาพ
ต่อมา พวกเราได้เดินทางสู่มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ห่างจากสาลวโนทยานไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งนั่งรถแป๊ปเดียวก็ถึงประมาณสัก 10 นาที ครั้นถึงแล้ว พวกเราพากันเดินเวียนรอบสามครั้ง เพื่อสักการะบูชา และถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นอนุสรณ์
มกุฎพันธนเจดีย์: สถานที่ถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอเขียนถึงการถวายพระเพลิงซึ่งปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรว่า มัลลกษัตริย์ก็จัดการถวายพระเพลิงพระศพพระผู้มีพระภาค ภายหลังที่ตั้งพระศพจัดเครื่องสักการะบูชาครบ ๗ วัน และภายหลังที่พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยภิกษุบริษัทมาถวายบังคมพระศพเสร็จแล้ว อนึ่ง ในบริษัทของพระมหากัสสปเถระนั้น ขณะที่ภิกษุทั้งหลายกำลังร้องไห้คร่ำครวญในข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็มีภิกษุรูปหนึ่งผู้บวชเมื่อแก่ชื่อสุภัททะ กล่าวห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เศร้าโศก ควรจะดีใจว่า ต่อไปจะไม่มีใครมาห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปรารถนาจะทำอะไรก็ทำได้ตามพอใจ ต่อมาพระมหากัสสปเถระได้ปรารภเป็นเหตุเสนอให้สงฆ์ทำปฐมสังคายนา
เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว ก็มีกษัตริย์และพราหมณ์จากแคว้นต่าง ๆ มาขอพระสารีริกธาตุ ( พระอัฏฐิ ) ครั้งแรกมัลลกษัตริย์จะไม่ให้ แต่โทณพราหมณ์พูดเกลี้ยกล่อมให้เห็นแก่ความสงบ จึงได้ตกลงแบ่งให้ไป ต่างก็นำไปทำสถูปบรรจุ และทำการฉลองในนครของตน
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่เป็นสาระในพระไตรปิฎก ผู้เขียนจึงได้นำมาสอดแทรก เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจยิ่งขึ้นในส่วนเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธองค์
หลังจากนั้น คณะพวกเรา กลับไปสู่วัดไทยกุสาวดี เพื่อพักผ่อน พระภิกษุสงฆ์ดื่มน้ำปานะ ส่วนญาติโยมก็รับประทานอาหารเย็นกัน ครั้นเสร็จจากภารกิจส่วนตัวแล้ว คณะเราทอดผ้าป่าบำรุงวัด เจ้าอาวาสท่านพูดประวัติความเป็นมาของการสร้างวัด และตั้งชื่อวัด ที่ตั้งชื่อว่า "กุสาวดี" นี้ เพราะในอดีตกาล เมืองกุสินาราแห่งนี้ มีนามว่า "กุสาวดี" เมื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จแล้ว ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนหลับนอน
วันที่ 14 มีนาคม 2554 อรุณเบิกฟ้า เป็นสัญญาณของวันใหม่ ดวงอาทิตย์สาดแสงมาจากทิศบูรพา ได้เวลาที่ทุกคนต้องลุกจากที่นอน จัดเก็บกระเป๋ามาเรียงไว้หน้าอาคารที่พัก แต่ละรูป แต่ละคน ก็รีบทำภารกิจส่วนตัว ครั้นเสร็จจากภารกิจแล้ว ก็ร่วมกันรับประทานอาหารเช้า บางท่านก็ฉันขนมกับกาแฟเท่านั้น
พออิ่มท้องแล้ว กราบลาเจ้าอาวาส พวกเราขึ้นรถเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองไวสาลี ถนนไปสู่เมืองไวสาลีบางจุดยังขรุขระ ระหว่างการเดินทางนั้น ได้แวะชมเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย คือ เกสริยาเจดีย์ หรือมหาสถูปเกสริยา ซึ่งก่อด้วยอิฐ บางส่วนหักพังตามกาลเวลา พวกเราปีนขึ้นจนถึงยอดสถูป สำรวจร่องรอยความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้ ได้แต่คิดว่า คนสมัยก่อนคงมีศรัทธาอย่างยิ่ง จึงสร้างสถูปได้ยิ่งใหญ่ขนานนี้
เกสริยาเจดีย์ เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุด ณ ประเทศอินเดีย
พวกเราเดินจนเหนื่อยล้า ต้องประคองตัวเองลงอย่างระมัดระวัง เพราะลาดชัน ถ้าลื่นตกลงไป มีหวังกระดูกหักหลายท่อน แต่ทุกคนก็ปลอดภัยดี และเดินกลับไปขึ้นรถที่จอดอยู่ริมถนน ครั้นขึ้นรถแล้ว ผู้จัดทัวร์ได้แจกอาหารฉันเพลกัน เพราะได้เวลาฉันเพลพอดี โดยปกติคณะทัวร์เรา เดินทางในแต่ละวันจะฉันเพลบนรถตลอด เนื่องจากแต่ละจุดที่จะไป หนทางยาวไกล
ประมาณบ่ายสองโมง คณะเราเดินทางถึงวัดไทยไวสาลี วัดนี้มีอาคารใหญ่ สูงสามชั้น มองดูแล้วเด่นสง่า ภายในวัดก็เป็นระเบียบเรียบร้อย มีพระสงฆ์ประจำอยู่วัดนี้ ประมาณสี่รูป และมีสามเณรชาวอินเดียมาบวชอยู่ด้วย
สมัยพุทธกาล เมืองไวสาลี เป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ปกครองโดยคณะเจ้าลิจฉวี มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองนี้มากมาย ในครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาล กล่าวคือ
-เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ 45 พรรษาสุดท้าย ที่หมู่บ้านเวฬุวคาม
-เป็นเมืองต้นกำเนิดภิกษุณีองค์แรก คือนางมหาปชาบดีโคตมี ต่อมานางสากิยานี 500 คน ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระพุทธเจ้าที่กูฏาคารสาลา ป่ามหาวัน ปัจจุบันนี้ สถานที่ตรงนี้ มีสถูปก่อด้วยอิฐ รูปทรงโอคว่ำ บริเวณโดยรอบ ก็มีสถูปเล็กๆเรียงกันไป ใกล้สถูปใหญ่ มีเสาหินอโศกที่ยังสมบูรณ์ที่สุด หลงเหลืออยู่ บนยอดเสาหิน มีรูปสิงห์ตัวเดียว
-เป็นเมืองที่ปกครองด้วยสามัคคีธรรม หรือวัชชีอปริหานิยธรรม 7 ประการ คือ
1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจของชาววัชชี
3.ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ประพฤติปฏิบัติในวัชชีธรรมอันเป็นของเก่า
4. เคารพเชื่อฟังชาววัชชีผู้แก่เฒ่า
5.ไม่ก้าวล่วงข่มแหงกุลสตรี ( หญิงที่มีสามีแล้ว ) และกุลกุมารี ( หญิงสาวที่ยังไม่มีสามี )
6. เคารพนับถือเจดีย์ของชาววัชชีทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยพลีกรรมอันเป็นธรรมที่เคยให้เคยทำ
7. จัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ของชาววัชชี จะตั้งใจว่า พระอรหันต์ที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้เป็นสุข
กูฏาคารสาลา ป่ามหาวัน
คณะพวกเรา เมื่อถึงที่จอดรถ ลงจากรถแล้วเดินเท้าเข้าไป ประมาณครึ่งกิโลเมตร สองข้างทางจะมีหมู่บ้านเล็กๆ คนที่นี่อยู่แบบเรียบง่าย พอถึงสถูปกูฏาคารสาลา (ป่ามหาวัน) ได้สวดมนต์ นั่งเจริญภาวนา หลังจากนั้น แต่ละท่านก็เดินดูเสาอโศกบ้าง ซากอิฐเก่าๆบ้าง บริเวณแถวนี้ มีการจัดเป็นระเบียบ ดูสะอาดตา มีไม้พุ่มไม้ประดับตกแต่ง บางท่านก็เดินถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ต่อมา พวกเราเดินไปขึ้นรถมุ่งหน้าสู่ปาวาลเจดีย์ สถานที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ครั้นถึงแล้ว เดินเข้าบริเวณสถานที่สำคัญ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีรั้วกั้น และมีโดมครอบซากอิฐเก่าก่อทรงกลม ซึ่งแต่ก่อนเคยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พวกเจ้าลิจฉวีได้รับส่วนแบ่งหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระที่เมืองกุสินารา
ปาวาลเจดีย์ สถานที่ปลงอายุสังขาร
คณะพวกเราได้นั่งสวดมนต์ เจริญภาวนา แผ่เมตตา ต่อมาได้เดินดูรอบบริเวณ มีไม้พุ่มประดับตกแต่งงามตา มีหญ้าสีเขียวที่ตัดแต่งอย่างดี มีเจ้าหน้าที่ดูแล ข้างนอกรั้วกำแพง มีเด็กขอทานจำนวนพอสมควร ยืนคอยความเมตตาสงสารจากคณะเรา
เวลาเย็น พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า พวกเราได้เดินไปดูสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าลิจฉวี และไม่ไกลจากวัดมากนัก ก็มีอาณาเขตซากพระราชวังพวกเจ้าลิจฉวี ที่ใช้เป็นรัฐสภาบริหารแคว้นวัชชี ด้วยระบอบสามัคคีธรรม ซากอิฐเก่าๆเป็นร่องรอยของราชวัง บริเวณใหญ่โต ทุกวันนี้มีทุ่งนาข้าวสาลีล้อมรอบ เดินถ่ายรูปภาพ แต่ไม่ชัด เพราะความมืดเข้ามาปกคลุม สุดท้ายต้องเดินกลับไปวัด ดื่มน้ำปานะ ตลอดถวายต้นผ้าป่าบำรุงวัด
ไวสาลีเป็นเมืองต้นกำเนิดน้ำพระพุทธมนต์ ในคราวที่เมืองไวสาลี เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ พวกเจ้าลิจฉวี จึงส่งมหาลิไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จมากรุงไวสาลี พระพุทธเจ้าได้ตรัสรัตนสูตร และทรงอนุญาตให้พระอานนท์สาธยายรัตนสูตร พร้อมกับประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระนคร ตลอด 7 วัน
ไวสาลีเป็นเมืองสังคายนา ครั้งที่ 2 ที่วาลุการาม หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 100 ปี จะอย่างไรก็ตาม เมืองแห่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
เช้าวันใหม่ (15 มีนาคม 2554) ตื่นจากที่นอน เก็บสัมภาระยัดใส่กระเป๋า และลากกระเป๋าไปรวมกันที่หน้าอาคาร เพื่อสะดวกในการลำเลียงสู่รถ เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว กราบลาครูบาอาจารย์ แล้วเดินไปขึ้นรถ ออกเดินทางสู่เมืองนาลันทา ระหว่างทางมีพระวิทยากรแนะนำสถานที่สำคัญต่างๆ และมีการทำวัตรเช้าบนรถ
เมื่อมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำคงคา มหานที ซึ่งทอดยาวที่สุดในประเทศอินเดีย ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นเขตคั่นระหว่างเมืองไวสาลี กับเมืองปาฏลีบุตร หรือปัจจุบันเรียกว่า "เมืองปัตนะ" เมืองนี้เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ สมัยพุทธกาล เมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ การนั่งรถจะผ่านสะพานข้ามแม่น้ำคงคาได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร มองดูผ่านกระจกรถออกไปข้างนอก เห็นแม่น้ำคงคาทอดยาวและกว้างใหญ่ น่าจะเป็นจุดที่กว้างที่สุดของแม่น้ำคงคา มหานทีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตชาวอินเดียมาโดยตลอด
เมืองปัตนะนี้ มีสถานที่สำคัญ คือ วัดอโสการาม ซึ่งเป็นสถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ที่ทำคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา และทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง
สำหรับคนไทย ที่ได้รู้จักพระพุทธศาสนา และนับถือพุทธ ก็อาศัยพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตมาประกาศ เผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ คือแถบบ้านเรา ดังนั้นพวกเราจึงได้รับอานิสงส์จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ และเป็นที่พึ่งทางใจตราบเท่าปัจจุบันนี้
พอรถผ่านสะพาน เข้าสู่เมืองปัตนะ ตามไหล่ทางมีคนพลุกพล่าน แออัด แต่ก็เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนในเมือง ซึ่งดำรงวัฒนธรรมของเขาไว้ เท่าที่สังเกตดู เมืองนี้ใหญ่ และมีความเจริญพอสมควร
รถวิ่งไปเรื่อยๆ จนถึงวัดไทยนาลันทา แวะฉันเพลภายในวัด ซึ่งวัดแห่งนี้ มีอุโบสถศิลปะไทยกลาง สวยงาม โดดเด่น บริเวณวัดสะอาดเรียบร้อยเ เนื้อที่วัดประมาณ 9 ไร่ ครั้นฉันเพลเสร็จแล้ว ถวายต้นผ้าป่า ต่อจากนั้น ออกเดินทางสู่มหาวิทยาลัยนาลันทา
ขอพูดถึงหมู่บ้านนาลันทา ในสมัยพุทธกาล บางครั้งเรียกว่า นาลกคาม เป็นบ้านเกิด และที่นิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา ที่ยิ่งใหญ่ เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของทวีปเอเชีย มีพระนักศึกษาจำนวนเป็นหมื่นรูป ต่อมาได้ถูกทำลาย
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงประตูเข้าสู่มหาวิทยาลัยนาลันทา ทุกคนต้องหยุดรอคิว เพราะที่นี้มีเจ้าหน้าที่ดูแล ครั้นพวกเราผ่านประตูเข้าไปสู่เขตบริเวณพื้นที่ เห็นความยิ่งใหญ่ ซากอิฐที่เป็นตัวอาคาร ยังเป็นรูปทรงให้เห็นร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ และมีมนต์ขลัง กลิ่นไอของการศึกษา เดินดูซากอิฐที่ปรักหักพัง และถ่ายรูปไปเรื่อยๆ เจอสถูปสารีบุตรเด่นสง่า ซึ่งบริเวณนี้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแวะมาเยี่ยมชม ศึกษาข้อมูลเป็นประจำ ระหว่างนั้นเอง แลไปเห็นกลุ่มนักศึกษาเดินเข้าชมอาคารซากอิฐจำนวนมาก
จากการสังเกตดูซากอิฐ คงจะมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เป็นระยะๆ เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ไว้ สำหรับศึกษาของคนรุ่นต่อไป
ความล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา
มหาวิทยาลัยนาลันทา
ในประมาณ พ.ศ. 1742 มีกองทัพมุสลิมเติร์ก ได้เผาผลาญทำลายวัด และปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และได้สังหารพระสงฆ์จำนวนมาก หลังมุสลิมยกทัพกลับ ได้มีพระภิกษุ นักศึกษา อาจารย์ ที่หลบซ่อน กลับมาฟื้นฟู ปฏิสังขรณ์ใหม่ ระยะหลังปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า
การค้นพบนาลันทา
จากข้อมูลที่ผู้บันทึกได้ศึกษามา ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย นักโบราณคดีจำนวนมากได้มาสำรวจขุดค้นพุทธสถานต่างๆ ในอินเดีย โดยอาศัยบันทึกของท่านเฮี่ยนจัง คนแรกที่มาสำรวจ คือ ท่าน ฮามินตัน (Lord Haminton) ใน พ.ศ. 2358 แต่ไม่พบ ได้พบเพียงพระพุทธรูป และเทวรูป 2 องค์เท่านั้น ซึ่งสถานที่พบอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2403 นายพลคันนิ่งแฮม ได้มาสำรวจ และก็พบมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงกองดินสูงเท่านั้น ต่อมาจึงได้ขุดสำรวจตามหลักวิชาการโบราณคดี มหาวิทยาลัยก็ได้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง บริเวณปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ และตรงหน้ามหาวิทยาลัยนาลันทาได้มีพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบในมหาวิทยาลัยนาลันทา
เมื่อพวกเราเดินดูพอสมควรแล้ว ก็กลับออกจากสถานที่แห่งนี้ ครั้นผ่านประตูทางออก ก็ได้แวะชมสิ่งของที่ขายเรียงรายกัน ทั้งสองฝั่งถนน ขณะเดินไปเรื่อยๆ พวกแขกเดินตามตื้อขายของ แม้จะรำคาญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สนใจ ต่อจากนั้นนั่งรถม้าไปสักการะหลวงพ่อองค์ดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ผู้คนนับถือเคารพ
เมื่อคณะพวกเราพร้อมกันที่รถแล้ว รถเคลื่อนออกจากนาลันทา มุ่งหน้าสู่วัดไทยสิริราชคฤห์ รอบบริเวณแถวนี้มีแต่ภูเขาเด่นตระหง่าน รถวิ่งไปเรื่อยๆ สองข้างทางมีแต่ภูเขา น่าจะเป็นเมืองแห่งขุนเขา
พอถึงวัดประมาณบ่ายสองโมงกว่า ก็ได้เก็บของสัมภาระลงจากรถ นำไปเก็บที่พัก ซึ่งภายในวัดมีอาคารใหญ่โต มีกุฏิพระสงฆ์หลายหลัง แม้แต่ซุ้มประตูทางเข้าวัดก็ใหญ่ มียามดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วัดมีกำแพงล้อมรอบ พื้นที่วัดประมาณ 11 ไร่
ครั้นหาที่พักได้แล้ว ก็เดินเลาะดูบริเวณวัด ซึ่งมีพระสงฆ์เจ้าถิ่นให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และได้พบเพื่อนพระธรรมทูตรุ่นเดียวกันอีกด้วย จึงได้นั่งคุยกันพอสมควร
วัดเวฬุวัน วัดเเห่งเเรกในพระพุทธศาสนา
พอได้เวลากำหนดไปชมวัดเวฬุวัน สวนไผ่ ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา วัดนี้พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งนครราชคฤห์ มอบถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพวกเราถึงวัดเวฬุวัน ได้เดินตรงเข้าไปมองซ้ายแลขวาเห็นศาลาไทยตั้งอยู่ จึงเข้าใจว่าคนไทยเป็นคนสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และเพื่อเป็นพุทธบูชา
พระวิทยากร ก็บรรยายประวัติความเป็นมาของวัด พวกเราก็เดินตามพระวิทยากรไปเรื่อยๆ เดินไปถึงจุดหนึ่งมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ จึงได้นั่งสวดมนต์ เจริญภาวนา การปฏิบัติบูชาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ต่อมาได้เดินรอบสระโบกขรณี ซึ่งมีการจัดแต่งสวยงาม มีน้ำพุตรงกลางสระ จึงต้องยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพสวยๆไว้
จากนั้น พวกเราออกจากวัดเวฬุวัน มุ่งหน้าสู่ตโปธาร สายธารน้ำร้อนที่ไหลจากใต้ภูเขาเวภาระ ซึ่งตโปธารนี้ อยู่ไม่ไกลจากวัดเวฬุวัน คงประมาณ 100 กว่าเมตร พวกเราย่างก้าวไป บริเวณนี้มีการวางขายสิ่งของสำหรับพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมาก เดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ จนถึงตโปธาร สายน้ำร้อน ซึ่งมีการแบ่งชนชั้นวรรณะตามลำดับ บ่อน้ำร้อนมีการแบ่งเป็นขั้นสำหรับแต่ละวรรณะ
ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่ากันมาว่า ภิกษุจำนวนมากจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน เวลาสรงน้ำ ก็พากันมาสรงน้ำที่ตโปธาร ต้องใช้เวลานาน แม้พระเจ้าพิมพิสาร องค์กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริวาร ก็เสด็จมาทรงสนานที่นี้ ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จมารอนาน จนพลบค่ำ เพราะมีพระภิกษุสงฆ์สรงน้ำอยู่ ด้วยความเคารพในพระภิกษุสงฆ์ พระองค์นั่งรอจนกว่าพระภิกษุสงฆ์สรงน้ำเสร็จ หลังจากนั้น พระองค์จึงทรงสนาน ครั้นทรงสนานเสร็จแล้ว ได้เสด็จกลับพระนคร แต่ไม่ทันเข้าพระนคร ประตูเมืองปิดก่อน จึงได้บรรทมนอกประตูพระนคร
พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ จึงได้ตรัสเรียกประชุมสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติพระวินัย ข้อว่า "ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสรงน้ำได้ 15 วัน ต่อ 1 ครั้ง ในปัจจันตชนบท"
ตโปธาร
ตโปธาราม ทุกวันนี้ ยังดูมีมนต์ขลัง เพราะชาวฮินดูยังมีความเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงพากันหลั่งไหลมาอาบ มาดื่มกิน ซึ่งการอาบน้ำยังมีการแบ่งชั้นกันอยู่ ในวรรณะสูง คือ พวกพราหม์ หรือกษัตริย์ จะอาบชั้นบนสุดของธารที่ไหลลงมาจากภูเขา แม้ปัจจุบันนี้ สร้างอาคารมีผนังกั้น มีประตูเข้าออก
ส่วนคนในวรรณะรองลงมาคือ วรรณะแพศย์ (พ่อค้า นักธุรกิจ) จะมีบ่ออาบต่อลงมาจากวรรณะก่อน และวรรณะสุดท้าย คือ ศูทร จัณฑาล (พวกทาส กรรมกร) ต้องอาบชั้นต่ำสุด ที่ไหลลงมาตามลำดับชั้น เมื่อผู้เขียนเดินดูชั้นล่าง น้ำขุ่นมาก ก็นึกในใจว่า อาบได้อย่างไร แต่เพราะความเชื่อของเขาว่าเทพเจ้าประทานให้ แต่ละคนจะรู้ฐานะของตนเป็นอย่างดี
ต่อจากนั้น ก็บ่ายหน้าสู่ภูเขาคิชกูฏ เพื่อจะไปสักการะพระคันธกุฎี บริเวณทางขึ้น ก็มีพ่อค้าแม่ค้าขายของให้กับนักท่องเที่ยว ทางขึ้นไม่ลาดชันมากนัก และมีการก่ออิฐเทปูนสร้างถนนขึ้นยอดภูเขา จึงสะดวกในการเดินขึ้น บางคนสูงอายุต้องมีไม้เท้าค้ำประคอง แดดร่มลมตกพอดี การเดินขึ้นเขาจึงไม่เหนื่อยมาก
ระหว่างทางเดิน มีการพักเป็นระยะๆ และมองไปภูเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กัน มีเจีดย์อยู่บนยอดเขา สูงสวยงาม เป็นวัดญี่ปุ่น มีกระเช้าขึ้น แต่ทางขึ้นสู่พระคันธกุฎี ต้องเดินทางเท้า เมื่อเดินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ มองลงมาข้างล่าง วิวสวย ป่าไม้เขียว เหมาะสำหรับนั่งภาวนาเป็นอย่างยิ่ง
ด่านแรก เจอถ้ำพระโมคคัลลานะ ถัดขึ้นไปจะเป็นถ้ำสุกรขาตา ซึ่งเป็นสถานที่พระสารีบุตรได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่ถวายพัดแด่พระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงธรรมแก่ฑีฆนขะ ถ้ำนี้มีสัณฐานเหมือนคางหมู หรือที่หมูขุด จึงเรียกถ้ำนี้ว่า "สุกรขาตา"
ถัดขึ้นไป เป็นช่องแคบที่พระเทวทัตกลิ้งหินเพื่อจะประทุษร้ายพระตถาคตเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพ หินก้อนนั้นไปกระแทกกับหินก้อนอื่น ทำให้หินแตก สะเก็ดหินไปถูกพระบาทของพระพุทธองค์ จนทำให้พระโลหิตห้อ
พระคันธกุฏี บนภูเขาคิชกูฏ
เมื่อผู้เขียนเดินขึ้นไปอีก จนถึงยอดภูเขาคิชกูฏ มีกุฏิพระอานนท์ ผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากคอยรับใช้พระพุทธองค์ ผ่านกุฏิพระอานนท์ มีลานกว้างหน้าพระคันธกุฏี ตำแหน่งของพระคันธกุฎีนี้ตั้งอยู่บนชะง่อนหน้าผา ถ้ามองมุมนี้ จะมองเห็นเมืองราชคฤห์ และภูเขาทั้งห้าลูก คือ เวภาระ เวปุลละ บัณฑวะ อิสิคิลิ และคิชกูฏ จึงเรียกเมืองนี้ว่า "ปัญจคีรีนคร"
บรรดาหมู่คณะจาริกบุญที่มาด้วยกัน ผู้เขียนเดินถึงพระคันธกุฏีของพระพุทธเจ้าก่อนกว่าคนอื่น เดินดูรอบๆมองชมวิว ทิวทัศน์ มีความสุขใจ พระอาทิตย์กำลังจะลับเหลี่ยมเขา มุมนี้ประทับใจที่สุด จึงได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก พอคณะเราขึ้นมาถึงพระคันธกุฏี จึงได้ทำวัตรเย็น สวดมนต์ ทำจิตให้สงบ เพื่อระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเมตตากรุณาต่อเวไนยสัตว์
เมื่อพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาแล้ว ความมืดเริ่มปกคลุมแทนที่ พวกเราก็เดินลงจากยอดเขาคิชกูฏ เวลาลงจะเร็ว แป๊ปเดียวก็ถึงที่รถจอด เมื่อขึ้นรถกันเสร็จแล้ว รถวิ่งสู่วัดไทยสิริราชคฤห์ พอถึงวัดแล้วได้ดื่มน้ำปานะ และได้ทำบุญทอดผ้าป่าบำรุงวัด ในราตรีสุดท้ายที่อยู่อินเดีย ทุกคนต่างหลับนอน พักผ่อนอย่างสบายใจ
วันที่ 16 มีนาคม 2554 พอรุ่งเช้า พวกเราต้องเก็บสัมภาระ ลากกระเป๋าเดินทางลงมากองรวมกันข้างล่าง และร่วมกันรับประทานอาหารเช้า ครั้นรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว พวกเรายกกระเป๋าขึ้นรถ เวลาประมาณ 8 โมงเช้า รถได้เคลื่อนออกจากวัดมุ่งหน้าสู่สนามบิน เมืองโกลกัตต้า หนทางยาวไกล พวกเราทำวัตรเช้าบนรถ และพระวิทยากรก็บรรยายเรื่องต่างๆ จนรถวิ่งไปถึงสถานที่รอยเกวียนโบราณ รถจอดให้ทุกคนลงไปดู ทุกคนแลซ้ายมองขวาดูร่องรอยเกวียนเก่า ที่ฝากรอยเกวียนเอาไว้บนหิน คงมีอายุหลายพันปีมาแล้ว คิดว่าแต่ก่อนทางสายนี้ เป็นทางเกวียนของพ่อค้าบรรทุกสิ่งของไปขายตามเมืองต่างๆ
ทุกคนพากันหยิบกล้องถ่ายภาพไว้ หลังจากนั้นขึ้นรถเดินทางต่อ ระหว่างเดินทางอยู่นั้น ก็ได้หมุนเวียนกันออกไปพูดเรื่องประทับใจ ในการมากราบสังเวชนียสถาน เยือนถิ่นอินเดีย แต่ละท่านก็ออกไปพูด มีบางท่านไม่พูด เพราะไม่กล้าพูด หรือไม่อยากจะพูด แต่โดยส่วนมากก็ได้ออกไปพูดกัน
รถวิ่งไปเรื่อยๆ จนได้เวลาฉันเพล เจ้าหน้าที่ได้แจกอาหาร พวกเราก็ฉันอาหารกันบนรถ หลังทานอาหารเสร็จ คนที่ยังไม่ได้พูดต้องออกไปพูดต่อ ผู้เขียนเองก็ไม่อยากจะพูดเท่าไหร่นัก แต่พระวิทยากรคะยั้นคะยอให้ออกมาพูด จึงได้ออกไปจับไมค์คุยเรื่องสังคมอินเดียเปรียบเทียบกับสังคมอเมริกา เพราะผู้เขียนคุ้นเคยอยู่ในอเมริกาหลายปี ขณะที่รถยังวิ่ง ก็เล่าไปเรื่อยๆ พูดได้พอสมควรแก่เวลา จึงได้คืนไมค์ให้แก่พระวิทยากรดำเนินรายต่อ บางท่านก็ได้พูดเรื่องสร้างวัด สร้างเจดีย์ที่เมืองไทย วัดที่ท่านเคยอยู่อาศัย เงินไม่พอในการก่อสร้างบ้าง จึงมีการประกาศบอกบุญคณะทัวร์ ใครมีศรัทธาก็ร่วมทำบุญได้ แต่ละท่านก็ได้ควักกระเป๋าตังค์ร่วมทำบุญกัน เพื่อเสริมสร้างทานบารมี และเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต
ต่อจากนั้น ได้ทำวัตรเย็น สวดมนต์ ครั้งสุดท้ายในดินแดนพุทธภูมิ เวลาเย็นค่ำ รถบัสพวกเรามาถึงสนามบินประมาณสองทุ่ม ภายในอาคารสนามบิน มองเห็นคนจำนวนมาก เจอคณะทัวร์ต่างๆของคนไทย รอการกลับสู่มาตุภูมิ ต้องนั่งรอขึ้นเครื่องนาน จนได้เวลาเข้าแถวเพื่อจะตรวจกระเป๋าเดินทาง พอเสร็จแล้ว ก็รอคิวตรวจพาสพอร์ต (หนังสือเดินทาง) จนเสร็จทุกอย่าง ได้เวลาที่เครื่องบินจะบินสู่เมืองไทย ประมาณตีหนึ่ง ทุกคนเดินไปขึ้นเครื่องบนลานจอดเครื่องบิน
ครั้นพร้อมทุกอย่างแล้ว กัปตันนำเครื่องบินทะยานสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืน เดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เครื่องบินเตะรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ
พระพุทธพจน์
ในทีฆนิกาย มหาวรรค มีพุทธดำรัสว่า
"ดูก่อนอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยเชื่อว่า
พระตถาคต ประสูติในที่นี้ก็ดี
พระตถาคต ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี
พระตถาคต ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้ก็ดี
พระตถาคต เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานในที่นี้ก็ดี
ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) มีจิตเลื่อมใสแล้ว เมื่อตายลง ชนเหล่านั้นทั้งหมด จักเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์"
(โปรดติดตามตอนต่อไป)