"วัดพิชโสภาราม.. In My Memory"
>>ขณะนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากร เจ้าอาวาสวัดพิชโสภาราม รองเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๑๙ น. สิริอายุ ๘๐ ปี ๘ เดือน ๑๔ วัน ผมขอถวายความอาลัยยิ่งเเด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ ที่เคยเป็นผู้นำทาง ชี้ความสว่างไสวให้กับมวลลูกศิษย์ สมัยผมเป็นสามเณรมาเรียนหนังสือบาลี อยู่วัดพิชโสภาราม เห็นหลวงพ่อเป็นพระสุปฏิปันโนนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน ที่เพียบพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม และเป็นพระสงฆ์ที่ยึดหลักพระธรรมวินัยตามคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติกิจของสงฆ์เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ ไม่เว้นแม้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย จนเป็นที่เลื่องลือและเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของญาติโยมเป็นอันมาก ด้วยความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่มีต่อพระภิกษุ สามเณร ท่านจึงทุ่มเทเเรงกายเเรงใจ สร้างสำนักปฏิบัติธรรม เเละสำนักบาลีขึ้นจนโด่งดังไปทั่วประเทศ
ใครอยากมีชีวิตที่งดงามหรือมีคุณค่า ต้องมาอยู่วัดพิชฯว่างั้นเหอะ!! ดังนั้น พระภิกษุสามเณรจำนวนมากทั่วทิศานุทิศ จึงมุ่งหน้าสู่วัดเเห่งนี้ เพื่อการศึกษาบ้าง เพื่อปฏิบัติธรรมบ้าง เพื่อจะหล่อหลอมตัวเองให้เป็นคนดีของสังคม ซึ่งสถานที่เเห่งนี้เป็นเบ้าหลอมที่ดี ผลิตบุคลากรที่สำคัญจำนวนมากต่อวงการพระพุทธศาสนาเรื่อยมาทั้งคฤหัสถ์ทั้งบรรพชิต วงการศึกษาด้านบาลี ก็มีผู้สอบประโยค ป.ธ. ๙ได้ รุ่นเเล้วรุ่นเล่า จากการอบรมเบ้าหลอมจากที่เเห่งนี้
หลายชีวิตผ่านการหล่อหลอมจากที่นี้ ผ่านการฝึกฝนจากวัดเเห่งนี้ วันเเล้ววันเล่า คืนเเล้วคืนเล่า จนมีความรู้ ความสามารถ เเละเข้าใจในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อเราเริ่มต้นชีวิตที่นี่ ก็อย่าลืมที่นี่ เเม้จะจากไปไกลเเสนไกล เมื่อมีเวลาต้องกลับมาเยือนวัดเเห่งนี้ ช่วยเหลืองานของวัด กตัญญูต่อวัดที่เคยอยู่อาศัย หรือผู้มีพระคุณ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อมวลมนุษยชาติ การศึกษาพัฒนาชีวิตให้งดงาม เเต่การปฏิบัติ ทำชีวิตให้งดงามกว่า ถ้าได้ท้้งสองอย่าง ชีวิตสุดประเสริฐ ดังนั้น จึงอยากจะเขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมบ้าง ความรู้เเค่หางอึ่ง เเต่อยากจะเขียน เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย เเละเป็นการนำเเนวทางปฏิบัติของวัดพิชฯมาเผยเเผ่ด้วย
สำนักปฏิบัติธรรมวัดพิชฯใช้คำภาวนาว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” เป็นหลัก กำหนดภาวนาที่อาการพองกับอาการยุบของท้องน้อย บริเวณเหนือสะดือ สังเกตดูอาการของมัน เวลาท้องพองขึ้น ภาวนาว่า “พองหนอ” เวลาท้องยุบภาวนาว่า “ยุบหนอ” กำหนดจนอาการพอง-ยุบชัดเจน รู้ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ มีสติต่อเนื่องในอารมณ์ปัจจุบัน รู้ตามความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปปรุงแต่งมันขึ้น เมื่อรู้ตามความเป็นจริง
ปัญญาก็จะเกิดเองของมัน อย่าไปนึกคิดจินตนาเอาเองว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องเข้าใจว่า เรามีหน้าที่เฝ้าดูอาการตามความเป็นจริง อาการพอง-ยุบมันจะเป็นแบบไหน ก็เรื่องของมัน มันจะหนักหรือเบา มันจะยาวหรือสั้นก็แล้วแต่มัน สติมีหน้าที่กำหนดรู้ทันปัจจุบัน เคล็ดลับคือ กำหนด และรู้อาการตามความเป็นจริง จะอย่างไรก็ตาม องค์ประกอบสำคัญในการเจริญกรรมฐาน มีอยู่ 3 ประการ อย่างนี้ คือ (1) อาตาปี คือ ความเพียร (2) สติ คือความระลึกได้, นึกได้ทันรูปนาม, ไม่เผลอตัว (3) สัมปชัญญะคือความรู้ชัดสิ่งที่นึกได้, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง เมื่อธรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นบริบูรณ์ในบุคคลใด บุคคลนั้น ย่อมเข้าใกล้พระนิพพาน ส่วนใหญ่สำนักปฏิบัติกรรมฐาน จะสอนตามแนวมหาสติปัฏฐาน (ที่ตั้งแห่งสติ) 4 อย่าง คือ
-การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นการตั้งสติพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
-การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา คือมีสติรู้พร้อมเวทนาทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งเฉยๆ ที่เป็นไปอยู่ขณะนั้น
-การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นการตั้งสติพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา รู้ชัดอารมณ์ตามความเป็นจริง จิตมีราคะไม่มีราคะ จิตมีโทสะ ไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ ไม่มีโมหะ อย่างนี้เป็นต้น
-การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นการตั้งสติพิจารณาตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเรา เขา รู้ชัดธรรมที่เกิดขึ้น เช่น นิวรณ์ 5 เป็นต้น ว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้น ดับไปอย่างไร ตามที่มันเป็นจริง
การเดินจงกรม เดินอย่างไร บางคนยังสงสัย การเดินจงกรมคือการเดินกลับไปกลับมา ทอดสายตาไปข้างหน้า ประมาณ 4 ศอก อย่างมีสติ รู้ทันปัจจุบัน ให้จิตจดจ่อกับการยก การย่าง การเหยียบ ของเท้า ให้ยกเท้าพอประมาณ สังเกตดูอาการตามความเป็นจริง จะเดินระยะไหน ก็ให้เหมาะกับจริตของตน ระยะไหนกำหนดได้ต่อเนื่องดี ก็กำหนดระยะนั้นไป โดยปกติสำนักปฏิบัติธรรม ท่านจะกำหนดการเดินจงกรมตั้ง 6 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ขวาย่างหนอ-ซ้ายย่างหนอ
ระยะที่ 2 ยกหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ 3 ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ 4 ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-เหยียบหนอ
ระยะที่ 5 ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ
ระยะที่ 6 ยกส้นหนอ-ยกหนอ-ย่างหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ-กดหนอ
อันที่จิรง การเดินจงกรมจะมีหลายระยะก็ตาม มันก็เป็นรูปแบบเท่านั้นเอง สำคัญที่ว่า เรากำหนดได้ทันอารมณ์ปัจจุบันหรือไม่ จิตจดจ่อกับการเดินหรือไม่ ถ้าสติสัมปชัญญะรู้ทันปัจจุบันถือว่าใช้ได้แล้ว จะอิริยาบถไหนก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรืออิริยาบถย่อย จะคู้ จะเหยียด จะทำกิจอะไรก็ตาม ขอให้มีสติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง
การนั่งสมาธิ คือต้องนั่งตัวให้ตรง ดำรงสติให้มั่น จดจ่อกับอารมณ์หลัก คือ พองหนอ-ยุบหนอ โดยทั่วไปจะนิยมนั่งหลับตา เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ไม่นั่งเกร็งตัว ปล่อยตัวสบายๆ ให้จิตจดจ่อ และต่อเนื่อง ไม่ต้องอยากให้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น คุณวิเศษมันจะเกิดของมันเอง ไม่ต้องอยากได้ บางครั้งอยากได้ ยิ่งไม่ได้ ถึงไม่อยากจะได้ แต่มันกลับได้ เพราะเราละความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง มีหน้าที่กำหนด และรู้อาการตามความเป็นจริง มิใช่คิดเอาเอง
เมื่อนั่งไป จิตสงบ กำลังสมาธิมากขึ้นตามลำดับขั้นของมัน ตลอดจนถึงขั้นระดับฌาน ความสุขในสมาธิและความสุขในฌาน จะเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ บางคนต้องเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ” เมื่อเป็นครั้งแรกของชีวิต และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิตก็ได้ ในการที่จะได้ลิ้มรสพระธรรม ถึงจะเป็นแค่สุขระดับโลกียะ ชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม ถ้าจะให้มั่นคงกว่านี้ต้องระดับโลกุตระแน่นนอนที่สุด เพราะฉะนั้น ครั้งแรกของจิตที่พบสิ่งมหัศจรรย์คือความสุข และมันจะไม่เลือนลางจากหัวใจเรา มันจะฝังในใจเราตลอด จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ คือครั้งสุดท้ายของชีวิต เพราะเราเห็นตามความเป็นจริง ที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
เมื่อครั้งแรกของใจ มีธรรม ครั้งสุดท้าย (ก่อนตาย) ก็อย่าทิ้งธรรม รักษาธรรม ดังคำว่า “พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิต เพื่อรักษาธรรม” เมื่อเรามีธรรม อยู่ในโลกนี้ ก็มีสุข ละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็มีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งแรกของหัวใจ ตลอดจนถึงครั้งสุดท้ายของชีวิต มีการประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ไม่ประมาทในชีวิต ธรรมเท่านั้น จะรักษาผู้ประพฤติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ดังคำว่า “คนดีผีคุ้ม ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” แสงสว่างของชีวิตจะรอคอยอยู่ข้างหน้า ขอเพียงเรามีความเชื่อมั่นและศรัทธาเท่านั้น...
...เเเม้พระเดชพระคุณหลวงพ่อ จะจากพวกเราไปเเล้ว เเต่ความดีที่ท่านได้สร้างไว้ ยังตราตรึงหัวใจของศิษยานุศิษย์ตลอดไป...
...เขียนโดย.. พระมหาภูริภัทร์ สุทาศิริ