Warning: "continue" targeting switch is equivalent to "break". Did you mean to use "continue 2"? in /home2/mybaacor/public_html/templates/sumter_blue/functions.php on line 185
บ้านหนองข่า_ป่าหวาย ถิ่นภูไท
ประวัติโดยสังเขป (ปรับปรุงใหม่) บ้านหนองข่า-ป่าหวายถิ่นภูไท
บ้านหนองข่า-ป่าหวายตำบลหนองข่าอำเภอปทุมราชวงศาจังหวัดอำนาจเจริญเดิมเรียกว่า "บ้านป่งนกเป้า" แต่คนชอบเรียกสั้นๆว่า "บ้านป่ง" ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญประมาณ 30 กิโลเมตรก่อตั้งมาประมาณ 120 - 140 ปีเป็นหมู่บ้านใหญ่แบ่งการปกครองเป็น 2 หมู่บ้านคือหมู่ 1 กับหมู่ 4 มี 1 วัดคือวัดสำราญนิวาสซึ่งเป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกายเริ่มสร้างวัดปีพ.ศ.2467 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 12 เดือนมิถุนายนพ.ศ.2540 และยังมีที่พักสงฆ์ 1 แห่งคือที่พักสงฆ์ป่าชุมชนเจริญจิต (ดอนปู่ตา) พื้นที่ 327 ไร่เริ่มสร้างเป็นที่พักสงฆ์เมื่อวันที่ 5 เดือนมกราคมพ.ศ. 2555 โรงเรียนมี 1 แห่งคือโรงเรียนหนองข่า-ป่าหวายและ 1 สถานีอนามัย
ประชากรมีเชื้อสายภูไทดั่งเดิมคนภูไทรากฐานวัฒนธรรมอยู่บนภูมิประเทศที่สูงตามภูเขาใกล้ชิดธรรมชาติมีการนับถือผี (ปัจจุบันนับถือพุทธศาสนา) วิถีชีวิตจึงผูกพันธ์กับธรรมชาติและป่าเขาโดยอยู่ร่วมกันแบบเรียบง่ายอาชีพหลักทำนาทำไร่ทำสวนอาชีพเสริมเลี้ยงสัตว์ชาวภูไทเป็นคนซื่อสัตย์รักความสงบชอบความสนุกสนานซึ่งมีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นเวลาช้านานงานหัตถกรรมที่โดดเด่นคือจักสานและทอผ้าด้วยความที่เผ่าภูไทมีหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
ภูไทมีถิ่นฐานเดิมที่สิบสองจุไทและสิบสองปันนา (ทางตอนเหนือของลาวและเวียดนามและติดกับทางตอนใต้ของประเทศจีน) กลุ่มชนภูไทที่เคลื่อนย้ายลงมาจากสิบสองจุไทซึ่งปัจจุบันคือชายแดนติดต่อระหว่างแขวงหัวพันของประเทศลาวและเมืองเดียนเบียนฟู (อดีตคือเมืองแถงหรือแถนแคว้นสิบสองจุไท) ของประเทศเวียดนามสาเหตุการย้ายถิ่นฐานน่าจะเกิดภัยแล้งหรือเกิดสงครามการต่อสู้ตามหัวเมืองต่างๆชนกลุ่มภูไทนี้จึงย้ายถอยร่นลงมาเรื่อยๆ
การย้ายถิ่นฐานดั่งเดิมของกลุ่มภูไทจากเหนือลงมาสู่กลางและใต้ของลาวโดยมาพึ่งอาศัยเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์เวียงจันทน์ (ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3) ต่อจากนั้นเจ้าอนุวงศ์จึงให้หัวหน้าเผ่าภูไทพาลูกน้องบริวารไปสร้างบ้านเมืองที่"เมืองวัง" จึงเป็นถิ่นฐานของชาวภูไทที่มีเขตวัฒนธรรม–ชาติพันธุ์ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ยุคของ "เจ้าอนุวงศ์" หรือเจ้า "อนุรุธราช" แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
ต่อมาชาวภูไทจากเมืองวังและเมืองตะโปน (ปัจจุบันคือเซโปน) ได้แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองต่างๆขึ้นอีกคือเมืองพิน, เมืองนอง, เมืองพ้อง, เมืองพลาน, เมืองเชียงฮ่ม, เมืองผาบัง, เมืองคำอ้อคำเขียวเป็นต้น (เรียบเรียงจากบทพระนิพนธ์ของพระบรมวงษ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีในหนังสือชื่อพระราชธรรมเนียมลาวพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2479)
เมืองวัง, เมืองเซโปนเป็นถิ่นกำเนิดของชาวภูไทในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ก่อนที่จะอพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสานปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อตอนที่เจ้าอนุวงษ์แห่งกรุงเวียงจันทน์เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯในพ.ศ. 2369 ต่อมาเมื่อกองทัพไทยยกข้ามแม่น้ำโขงไปปราบปรามจนสงบราบคาบแล้วทางกรุงเทพฯมีนโยบายจะอพยพชาวภูไทจากเมืองวัง, เมืองเซโปนจากชายแดนปลายพระราชอาณาเขตซึ่งใกล้ชิดติดกับแดนญวนให้ข้ามโขงมาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสาน) ให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยมิให้เป็นกำลังแก่นครเวียงจันทน์และฝ่ายญวนอีกต่อไปจึงไปกวาดต้อนผู้คนซึ่งเป็นชาวภูไทจากเมืองวัง, เมืองเซโปน,เมืองพิน, เมืองนอง, เมืองคำอ้อคำเขียวซึ่งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขตของลาวปัจจุบันซึ่งยังเป็นอาณาเขตของพระราชอาณาจักรไทยอยู่ในขณะนั้นให้ข้ามโขงมาตั้งบ้านตั้งเมืองทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองกาฬสินธุ์, สกลนคร, นครพนมมุกดาหารยโสธรและอำนาจเจริญในปัจจุบัน
จากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านท่านเล่าให้ฟังว่าภูไทบ้านหนองข่า-ป่าหวายย้ายมาจากเมืองพินเมืองนอง (ปัจจุบันอยู่แขวงสะหวันนะเขตสปป.ลาว) ก่อนจะย้ายข้ามฝั่งโขงมาสู่บริเวณพื้นที่ดงห้วยดาว (บ้านดง) ต่อจากนั้นก็อพยพย้ายกันไปตามที่ต่างๆบางกลุ่มไปอยู่บริเวณบ้านคำโพนบางกลุ่มย้ายไปสร้างบ้านเรือนที่บ้านหนองหินและบางกลุ่มก็ย้ายออกไปสร้างบ้านเรือนใกล้ภูจึงเรียกว่า "บ้านเก่าหัวภู" เมื่อเกิดภัยแล้งจึงต้องย้ายบ้านเรือนอีกขยับลงมาใกล้ห้วยทรายคงจะอยู่ที่นี่หลายปีต่อมาน้ำจากห้วยทรายเข้าท่วมบ้านเรือนจึงเรียกว่า "บ้านน้ำท่วม" หลังจากนั้นจึงย้ายบ้านเรือนสู่พื้นที่ราบสูงซึ่งไม่ไกลจากห้วยทรายมากนักเหมาะสำหรับการทำนาทำไร่และบริเวณป่าแห่งนี้เหมาะที่จะสร้างบ้านเรือนขึ้นจึงพากันย้ายมาสร้างบ้านเรือนครั้งแรกมีพ่อใหญ่ทันแต้มทาย้ายมาปลูกเรือนก่อนโดยมาแผ้วถางป่าทำข้าวไฮ่ (ข้าวไร่) ต่อจากนั้นจำนวนคนก็ย้ายมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยมีผู้ใหญ่เสือเป็นหัวหน้าเป็นผู้นำ
เดิมทีคนทั่วไปชอบเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านป่งนกเป้า" สาเหตุที่คนรุ่นก่อนเรียกว่า "บ้านป่ง" เพราะบริเวณแถบนี้มีดินป่ง (ดินโป่ง) และมีนกเป้าจำนวนมากลงมากินดินป่งบริเวณดินป่งน่าจะอยู่ใกล้คุ้มบ้านใต้แต่หมู่บ้านแห่งนี้ทางราชการตั้งชื่อว่า "บ้านหนองข่า" สมัยก่อนบริเวณตรงนี้มีต้นข่าป่าจำนวนมากเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นทางราชการก็แยกออกเป็น "บ้านป่าหวาย" ตรงนี้มีต้นหวายป่ามากเช่นเดียวกันฉะนั้นจึงเรียกรวมกันว่า "บ้านหนองข่า-ป่าหวาย" ตราบเท่าทุกวันนี้
หลักบ้านหนองข่า-ป่าหวายคือดอนจ้ำปู่ (ดอนปู่ตา) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านหนองข่า-ป่าหวายจะมีตูบ (ศาล) ปลูกไว้ให้ปู่ตาอาศัยอยู่และเป็นที่ชาวบ้านเคารพนับถือมีการทำบุญหลักบ้านเพื่อความเป็นศิริมงคลเป็นประเพณีของชาวบ้านหนองข่า-ป่าหวายที่ทำเป็นประจำทุกปีเพื่อให้หลักบ้านปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขชาวบ้านมีความเชื่อว่าดอนปู่ตาเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผีปู่ตาซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษหรือผีเจ้าที่ที่คอยดูแลป่าประจำหมู่บ้านโดยปกติดอนปู่ตาจะเป็นป่ารกครึ้มมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เนื่องจากไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดไม้หรือจับสัตว์ในป่าดอนปู่ตาเพราะเกรงกลัวปู่ตาจะทำให้มีอันเป็นไป
พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่ตานั้นจะมีจ้ำประจำหมู่บ้านคอยทำพิธีซึ่งพิธีเลี้ยงผีปู่ตานี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือน 3 และเดือน 6 ของทุกปีก่อนที่จะมีพิธีกรรมทำบุญเลี้ยงบ้านจ้ำ (ผู้ประกอบพิธีกรรม) ประจำหมู่บ้านจะเป็นคนบอกกล่าวชาวบ้านก่อนประมาณ 3-4 วันเพื่อให้ชาวบ้านเตรียมเหล้าเบียร์และไก่เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้
ดอนจ้ำปู่ (ดอนปู่ตา) ในหมู่บ้านมี 2 แห่งคือดอนปู่ตาบ้านเทิง (เหนือ) กับดอนปู่ตาคุ้มบ้านใต้แต่ก่อนจ้ำปู่ (ปู่ตา) บ้านใต้ชอบเต่าเชื่อกันว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของปู่ตาปู่ตาคุ้มบ้านใต้เป็นแค่เป็นบริวารของปู่ตาบ้านเทิง(หนือ) เท่านั้น
อันที่จริงแม้ชาวบ้านจะหันมานับพระพุทธศาสนาแล้วก็ตามแต่ความเชื่อเรื่องผีนับถือผีก็ยังมีอยู่เช่นผีปู่ตาผีบรรพบุรุษผีไร่ผีนาผีบ้านผีเรือนเป็นต้นก่อนจะจบขอฝากบทผญาไว้เตือนใจพี่น้องชาวภูไทว่า "อย่าสุไลเสียถิ่มพงษ์พันธุ์พี่น้องเก่าอย่าสุละเผ่าเชื้อไปย่องผู้อื่นดี"
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เขียนมาจะทำให้ทุกท่านได้รู้จักวิถีชีวิตคนภูไทบ้านหนองข่า-ป่าหวายมากยิ่งขึ้นและได้รู้จักประวัติความเป็นมาของชนเผ่าภูไทโดยชาติพันธุ์หากมีข้อบกพร่องผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ณโอกาสนี้
เขียน/เรียบเรียง...โดย...พระมหาภูริภัทร์สุทาศิริ