ประวัติความเป็นมา "กฐิน"
ประวัติของกฐินนั้นมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทะเจ้า ณ เมืองสาวัตถี จึงพากันเดินทางจากเมืองปาฐาไปสาวัตถี แต่พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ในระยะทางอีก ๖ โยชน์จะถึงสาวัตถี ก็เผอิญถึงวันเข้าพรรษาภิกษุเหล่านั้นจะเดินทางต่อไปไม่ได้ จึงจำพรรษาอยู่ในเมืองสาเกต ในระหว่างจำพรรษามีความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยเร็ว พอออกพรรษาก็ออกเดินทางจากเมืองสาเกต ในเวลานั้นฝนยังตกมากอยู่ ทางเดินก็เป็นโคลนตมเปรอะเปื้อน เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพิธีกรานกฐิน ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วไป ๑ เดือน ภิกษุที่ได้ทำพิธีกรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ คือความยกเว้นในการผิดวินัย ๕ ประการ เป็นเวลา ๔ เดือน (หมดเขตในวันเพ็ญเดือนสี่) อานิสงส์หรือความยกเว้นทั้ง ๕ ประการนั้น คือ
- ๑.เข้าบ้านได้โดยไม่ต้องลาภิกษุด้วยกัน
- ๒.เดินทางโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปด้วย
- ๓.ฉันอาหารโดยล้อมวงกันได้
- ๔.เก็บอาหารที่ยังไม่ต้องการใช้ไว้ได้
- ๕.ลาภที่เกิดขึ้นให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้นซึ่งได้กรานกฐินแล้ว
ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน ๑ เดือน หลังประเพณีออกพรรษา โดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย ไม่ต่ำกว่า ๕ รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน
กฐินแปลว่าอะไร?
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มี ความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้า ในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน ในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)