Warning: "continue" targeting switch is equivalent to "break". Did you mean to use "continue 2"? in /home2/mybaacor/public_html/templates/sumter_blue/functions.php on line 185
วันมาฆบูชา มีความสำคัญอย่างไร?
"วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เเละถือว่าเป็น "วันแห่งความรัก" ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษ ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" ขึ้น และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการ และอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อมวลมนุษยชาติ
ความหมาย
วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญ
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
ประวัติความเป็นมา
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า
เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้ พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา
ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่า แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ เป็นหลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
หลักการ ๓ หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย ไม่ผูกพยาบาท
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ เช่น ไม่ฆ่า ไม่โลภมาก และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา
อุดมการณ์ ๔ หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่
๑. ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ
๔. นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิต ตามมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยง ชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ
วิธีการ ๖ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่
๑.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น
๒.ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพระเบียบ กติกา กฏหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม
๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็ได้
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
๑. ทำบุญใส่บาตร
๒. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนา
๓. ไปเวียนเทียนที่วัด
๔. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
ข้อปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันมาฆบูชา
๑. จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มาพร้อมกันที่วัดตามเวลานัดหมาย เพื่อฟังโอวาทหรือพระธรรมเทศนา สวดมนต์ และเวียนเทียน
๒. ก่อนออกจากบ้าน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสและแต่งกายให้เรียบร้อย
๓. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยหยอกล้อกัน หรือกระทำภารกิจอื่นอันไม่สมควร เช่น เคาะระฆังเล่น จุดดอกไม้ไฟเล่น เป็นต้น
๔. เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี ให้ทุกคนไปเข้าแถวหรือเข้าไปในสถานที่กำหนดโดยพร้อมเพรียงกัน
๕. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้โอวาท ทุกคนต้องพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียน ตั้งใจฟังด้วยความสงบ กล่าวคำสาธุเมื่อพระสงฆ์ให้โอวาทจบ
๖. ในพิธีสวดมนต์ จะมีผู้กล่าวนำคำบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา และคำบูชาพระรัตนตรัย ให้ทุกคนจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวตามด้วยความเคารพ มีจิตในยึดมั่น
ในการเดินเวียนเทียน จะกระทำ ๓ รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า "เวียนแบบทักขิณาวัฏ"
ในรอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตมีสมาธิ
ในรอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
ในรอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
๗. ในการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไม่ควรส่งเสียงพูดคุยหรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า
๘. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนด เพื่อสะดวกแก่การเก็บทำความสะอาด
๙. หลังจากเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณอุโบสถให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่น ๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้น
การปลงมายุสังขาร
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา ๔๕ ปี พระองค์ทรงปลงอายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม ๒ ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร